เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีรายงานว่าในหลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบหรือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 20% จากจำนวนประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาได้หลายปีแล้ว โดยทางกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รวบรวมสถิติมาจาก กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย สรุปข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 พบว่าประชากรไทยมีทั้งหมด 64,989,504 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป 13,450,391 คน หรือคิดเป็น สัดส่วน 20.70%
เมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่าเป็น กลุ่มอายุ 60 – 69 ปี จำนวน 7,593,731 คน กลุ่มอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3,987,082 คน กลุ่มอายุ 80 – 89 ปี มีจำนวน 1,516,689 คน กลุ่มอายุ 90 – 99 ปี จำนวน 311,470 คน และกลุ่มอายุ 100 ปีขึ้นไป มีจำนวน 41,419 คน
“เฉพาะจังหวัดที่มีผู้สูงอายุ อายุ 100 ปีขึ้นไป มากสุดคือจังหวัด กรุงเทพมหานคร 7,470 คน นนทบุรี 1,729 คน ชลบุรี 1,310 คน เชียงใหม่ 1,296 คน นราธิวาส 1,232 คน สงขลา 1,132 คน นครศรีธรรมราช 1,131 คน นครราชสีมา 1,130 คน ยะลา 1,099 คน ปัตตานี 1,078 คน”
ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ ( 60 ปีขึ้นไป) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรไทยในพื้นที่ คือจังหวัดแพร่ ผู้สูงอายุคิดเป็น 28.18 % หรือจำนวน 119,225 คน จากจำนวนประชากร 423,064 คน รองลงมาคือจังหวัดอ่างทอง ผู้สูงอายุ 25.70 % หรือจำนวน 69,199 คน จากจำนวนประชากร 269,274 คน เชียงใหม่ 25.50% หรือจำนวน 416,884 คน จากจำนวนประชากรในพื้นที่ 1,635,052 คน เชียงราย ผู้สูงอายุ 25.44% หรือจำนวน 295,987 คน จากประชากร ในพื้นที่ 1,163,592 คน
อุทัยธานี 23.29 % หรือจำนวน 74,704 คน จากประชากรไทยในพื้นที่ 320,819 คน เพชรบุรี 22.60 หรือจำนวน 108,260 คน จากจำนวนประชากรในพื้นที่ 479,102 คน เพชรบูรณ์ 21.75 % หรือจำนวน 209,235 คน จากจำนวนประชากร ในพื้นที่ 961,918 คน เลย 21.39 % หรือจำนวน 134,664 คน จากจำนวนประชากรในพื้นที่ 629,618 คน แม่ฮ่องสอน 18.18% หรือจำนวน 44,067 คนจากประชากรในพื้นที่ 242,414 คน และอุบลราชธานี 17.98 % หรือจำนวน 334,232 คน จากจำนวนประชากรไทยในพื้นที่ 1,858,912 คน