วันที่ 27 ก.ค. นายอนันต์ ดนตรี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนพื้นที่สูงสู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ประจำปี 2567 หรือ Tribal Product Expo 2024 โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ โดยกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2567 ณ เชียงใหม่ฮอลล์ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่
โดยในปีนี้เป็นการจัดงานขึ้นเป็นปีแรก ภายใต้แนวคิด “อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมร่วมสมัย วิสาหกิจชุมชนไทย สร้างสวัสดิการยั่งยืน” แนวคิดของงานในปีนี้ เป็นการยกระดับสินค้ากลุ่มชาติพันธุ์ โดยเล่าเรื่องราวผ่านสินค้าและบริการ สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้มาร่วมงาน ดังนั้นกิจกรรมภายในงาน จึงจะพยายามร้อยเรียงเรื่องราวให้ผู้ที่มาร่วมงาน ได้เข้าใจภาพของการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบนพื้นที่สูง และการส่งเสริมการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนบนพื้นที่สูง พัฒนาต่อยอดอาชีพผลิตภัณฑ์ และการท่องเที่ยวชุมชนตามทุนทางสังคม มุ่งเน้นให้การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อ อัตลักษณ์ ภูมิปัญญาของราษฎรบนพื้นที่สูง ก่อให้เกิดรายได้ มีอาชีพ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานพาณิชย์จังหวัด, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด, สำนักงานเกษตรจังหวัด,สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด, สำนักงานพัฒนาชุมชน, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, สมาคมหอการค้า, และเครือข่ายภาคเอกชนต่างๆ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูง โดยประสานการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมประกอบด้วย ทั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซู อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ และมลาบรี มีวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ และมีทุนทางสังคม จึงได้มีการดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม จนเกิดเป็นพลังทางสังคมที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาสังคม การส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม การจัดตั้งกลุ่มอาชีพเสริมสร้างรายได้ในรูปแบบ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” จนไปถึง “กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม”
จากสถานการณ์ความท้าทายของราษฎรกลุ่มเป้าหมาย พบว่า ส่วนหนึ่งยังคงประสบกับปัญหาในด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลายเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงสวัสดิการ ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคม ปัญหาในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งในการพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมในชุมชนบนพื้นที่สูง ที่มีวิถีชีวิตอัตลักษณ์ ประเพณี ผลิตภัณฑ์ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย มาสนับสนุนในการส่งเสริมพัฒนาด้านอาชีพและรายได้ของราษฎรบนพื้นที่สูง ให้สนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากพลังสร้างสรรค์ ส่งผลให้ชุมชนบนพื้นที่สูง เกิดการพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี