เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 ก.ค. ที่อาคารอนาคตใหม่ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล แถลงกรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่แพงเกินจริงของกรุงเทพมหานคร ภายหลังจากครบกำหนดการตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว แต่ยังไม่ได้ฟันธงว่า มีการทุจริตในโครงการหรือไม่ ว่า เครื่องออกกำลังกายแพงเกิดจากทฤษฎี 3 ล็อก ล็อกที่ 1 คือ ล็อกสเปก ยกตัวอย่าง มีการกำหนดคุณสมบัติเครื่องออกกำลังกายในทีโออาร์ให้ตรงกับ คุณสมบัติเครื่องออกกำลังกายของบริษัทยี่ห้อหนึ่ง (บริษัท PULSE Fitness ) เช่น กำหนดคีย์เวิร์ด ว่า จะต้องเป็นแบบ High Contrast Display มีโปรแกรมออกกำลังกายประกอบด้วย Quick start Goals Profile และ X -Train และยังมีการกำหนดให้ใช้ได้ทั้งหมด 23 ภาษา ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าจะเอาภาษาอะไรมากมายขนาดนี้ ไปให้ใครใช้
นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า ล็อกที่ 2 คือ ล็อกสืบราคา ในความผิดปกติของโครงการลู่วิ่ง 759,000 บาท จะมีการสืบราคาจาก 3 เจ้าเดิมทุกโครงการ นั่นก็คือ บริษัท Pulse fitness, WQN fitness และ บริษัท Life fitness ซึ่งมักจะกำหนดราคาให้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ 3 เจ้าเดิมจะให้ราคาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมันเป็นผลมาจาก การจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายมักจะไม่มีราคากลาง เนื่องจากกรมบัญชีกลางไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ จึงทำให้เกิดการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายหลายครั้ง
นายศุภณัฐ กล่าวอีกว่า ล็อกที่ 3 คือ ล็อกผลงาน โดยมีการกำหนดผลงานขายคุรุภัณฑ์ประเภทเดียวกัน ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับส่วนราชการ ให้วงเงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซื้อขายกันไว้ให้น้อยกว่า 3 สัญญา และระยะเวลานับย้อนหลังไม่เกิน 4 ปี ซึ่งเป็นการปรับให้พอดีกับเอกชนบางเจ้า ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในยุคของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. โดยพบว่า จาก 10 โครงการ มีล็อกสเปกผลงานถึง 9 โครงการ มาถึงในสมัยของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็พบว่ามีการล็อกสเปก 12 โครงการ จาก 14 โครงการด้วย
นายศุภณัฐ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานคร จะปฏิเสธไม่รับทราบข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีความพยายามร้องเรียนจากบริษัทให้ทบทวนทีโออาร์ใหม่ เพราะมีการบังคับให้บริษัทที่มีผลงานจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเสนอราคาได้ ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นธรรม และยังบังคับให้มีผลงานไม่น้อยกว่า 3 งานเข้าเสนอ ซึ่งถือเป็นการกีดกันบริษัทเล็ก แต่กรุงเทพมหานคร กลับไม่ขอชี้แจงเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตนยังสืบพบว่าวิทยาลัยการกีฬาก็มีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่มีราคาสูง และการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่มีราคาแพงเกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกรมบัญชีกลาง ที่ไม่มีการกำหนดราคากลางในเรื่องนี้ จึงขอเรียกร้องกรมบัญชีกลางให้พิจารณาในเรื่องนี้ด้วย.