เมื่อวันที่ 29 ก.ค. จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ที่ใช้ชื่อว่า Su Per Armer ได้โพสต์ภาพลงในกลุ่ม “คนรักมวลเมฆ” พร้อมข้อความ ว่า สุดยอดไปเลยไปวันนี้ โดยภายในภาพเป็นภาพลักษณะก้อนเมฆคล้ายกับคลื่นทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งมีคนสนใจเข้ามากดไลค์ ถึง 3 หมื่นครั้ง และมีการแชร์รูปภาพนี้กว่า 2,000 ครั้ง โดยมีชาวเน็ตมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก บางคอมเมนต์ก็ว่ามวลเมฆดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลื่นสึนามิ หรือลักษณะคลื่นขนาดใหญ่ บ้างก็ว่าเหมือนเทือกเขาเนปาล โดยหลายความคิดเห็นแสดงถึงมวลเมฆก้อนนี้ มีลักษณะที่สวยงาม และมีความน่ากลัวไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังเจ้าของโพสต์ดังกล่าว โดยเจ้าตัวให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ภาพนี้ได้ถ่ายขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 67 เวลาประมาณ 17.30 น. ซึ่งขณะที่กำลังขับรถผ่านบริเวณก่อนถึงหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีศรีสะเกษ จึงได้บันทึกภาพนี้ไว้ และนำไปโพสต์ลงกลุ่ม คนรักมวลเมฆ ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 226 ศรีสะเกษ–อุทุมพร ตำบลหญ้าปล้อง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจุดที่มีการบันทึกภาพดังกล่าว โดยได้สอบถามกับป้าตุ๊ก แม่ค้าขายเฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่ใกล้กับจุดบันทึกภาพเมฆประหลาดนี้ไว้ได้
โดยป้าตุ๊ก เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนขายเฟอร์นิเจอร์ อยู่ที่แห่งนี้ มานานกว่า 10 ปี ซึ่งก้อนเมฆประหลาดนี้ เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ขณะที่ตนขายของอยู่ ซึ่งก่อนที่ก้อนเมฆประหลาดจะเกิดขึ้น จะมีลมแรงและท้องฟ้าก็เริ่มมืดครึ้มเหมือนฝนจะตก หลังจากนั้นก็มีก้อนเมฆจำนวนมาก ซึ่งตอนแรกลักษณะเหมือนน้ำตก ซึ่งก้อนเมฆได้เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ จนสุดอยู่ที่บริเวณห้างบิ๊กซีศรีสะเกษ หลังจากปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นสักพัก ก็มีฝนตก และขณะที่ฝนตกอยู่นั้น ก้อนเมฆประหลาดก็ยังอยู่ ก่อนที่สักพักจะมีก้อนเมฆสีดำมาปกคลุม เมฆประหลาดดังกล่าวไว้
ซึ่งตั้งแต่ที่ตนขายของอยู่ตรงนี้ มานานกว่า 10 ปี ไม่เคยเห็นก้อนเมฆแบบนี้มาก่อน ลักษณะเหมือนคลื่น แต่ก็คล้ายน้ำตก และมีคนอยู่ข้างล่าง ซึ่งในใจตนคิดว่า ปรากฏการณ์ก้อนเมฆประหลาดนี้ จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือภัยธรรมชาติที่อันตรายในประเทศไทยหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า สำหรับมวลเมฆดังกล่าว อาจจะเป็นปรากฏการณ์ ที่มีชื่อเรียกว่า เมฆอาร์คัส หรือเมฆกันชน ซึ่งเป็นปรากฏการหนึ่งก่อนเกิดฝนฟ้าคะนองและไม่มีอันตรายโดยตรง แต่เนื่องจากอาร์คัสเป็นส่วนหนึ่งของ เมฆฝนฟ้าคะนอง จึงมีความเสี่ยงจากฟ้าผ่าแฝงอยู่ ซึ่งสามารถผ่าออกมาไกลจากตัวเมฆได้หลายกิโลเมตร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง.