เมื่อเวลา 11.48 น. วันที่ 30 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม ครม. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานมาตรการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ โดยมีการตั้งคณะทำงานมาแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอร่างการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอบคุณ ครม.ที่เห็นชอบมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอ ครม. 7 มาตรการ แก้ปัญหาปลาหมอคางดำด้วยวาจา และสัปดาห์หน้าจะเสนอด้วยเอกสารต่อที่ประชุม ครม. ประกอบด้วยมาตรการที่ 1.จำเป็นต้องกำจัดและนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศของไทยให้มากที่สุด 2.มาตรการธรรมชาติบำบัด โดยการปล่อยปลานักล่าลงไป อาทิ ปลากะพง ปลาอีกง เป็นต้น ซึ่งปลานักล่าจะต้องปล่อยในช่วงเวลาที่เหมาะและพื้นที่ที่เราศึกษามาแล้ว โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ปลานักล่าไม่เหมือนกัน โดยวิธีการดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำได้มากขึ้น 3.นำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปใช้เรื่องอื่นๆ โดยตั้งเป้าภายในปีนี้จนถึงกลางปีหน้า เราจะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 พันตัน หรือ 4 ล้านกิโลกรัม
4.มาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่น 5. ทำความเข้าใจเรื่องการแพร่ระบาดกับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด 6.ใช้การวิจัย นวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น การเหนี่ยวนำโครโมโซม จาก 2n เป็น 4n ซึ่งจะทำให้ปลาเป็นหมัน และเราจะใช้ฟีโรโมน หรือสารคัดหลั่งในการดึงดูดทางเพศ ในการนำแสง สี ไปล่อให้ปลาหมอคางดำมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อง่ายต่อการจับและกำจัด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการใช้แสงสีเขียวล่อปลาหมึก 7. การฟิ้นฟู กระทรวงเกษตรฯ จะต้องไปศึกษาแหล่งน้ำ ที่เราพบปลาหมอคางดำ ในปัจจุบันมีปลา ปู กุ้ง หอย อะไรบ้างเพื่อเป็นข้อมูลให้กรมประมงเตรียมเพาะพันธุ์สัตว์ เพื่อคืนระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ให้กลับมา
เมื่อถามว่า มีข้อเสนอนักวิชาการให้ใช้ไซยาไนด์กำจัดปลาหมอคางดำ นายอรรถกร กล่าวว่า ข้อเสนอนั้นมาจากนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ เราไม่ปิดโอกาสให้เสนอแนวความคิด แต่ในมาตรการต่างๆ ที่เราจะใช้ยาแรง ก่อนที่เราจะทำต้องคิดและไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะสังคมไทยและระบบนิเวศจะได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่เราออกไป ดังนั้นมาตรการหลักของเราคือทำงานร่วมกับชาวประมงที่ถือเป็นนักล่ามือหนึ่ง ส่วนมาตรการอื่นๆ เราจะค่อยๆ พิจารณาตามสถานการณ์ต่อไป.