สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ว่านายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ เดินหน้าโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพสำหรับประชาชน เพื่อสร้างเสริมความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ท่ามกลางแนวโน้มทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังไม่แน่นอน


โครงการดังกล่าวดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว สมัยที่หว่องยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลังในยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง


ทั้งนี้ ครัวเรือนในสิงคโปร์ 1.4 ล้านแห่ง จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกครัวเรือนละ 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 15,956.78 บาท) หลังเคยแจกไปแล้วครัวเรือนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 13,297.32 บาท) เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาเรื่องค่าครองชีพ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน กับผู้ประกอบการและร้านค้าซึ่งร่วมโครงการ


ทั้งนี้ เงินดังกล่าวจะแบ่งจ่ายสองครั้ง ครั้งละ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 7,978.39 บาท) งวดแรกแจกไปแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนการจ่ายเงินงวดที่สองจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค. 2568


นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์มีแผนแจกเงินให้แก่ประชาชนรายบุคคล ภายในเดือน ก.ย. 2567 โดยแบ่งคุณสมบัติของผู้ที่เข้าเกณฑ์ออกเป็นลำดับขั้นตามรายได้ ดังนี้


คุณสมบัติที่รัฐบาลกำหนดไว้ คือต้องมีอายุ 21 ปี หรือมากกว่านั้นในปีนี้ อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 1 แห่ง และมีเงินได้พึงประเมินสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.65 ล้านบาท) เบื้องต้นน่าจะมีผู้เข้าข่ายประมาณ 2.5 ล้านคน และจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 5,318.93 บาท)


ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินต่อปีมากกว่า 34,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 904,217.71 บาท) แต่ไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.65 ล้านบาท) จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ และผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินต่อปีน้อยกว่า 34,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 904,217.71 บาท) จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 800 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 21,275.71 บาท)

อนึ่ง เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัว 1.1% เมื่อปีที่แล้ว แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 1.2% ขณะที่ภาครัฐคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ ไว้ที่ระหว่าง 1.0-3.0% โดยเชื่อว่าอุปสงค์จากภายนอกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


อย่างไรก็ตาม “ความเสี่ยงขาลงทางเศรษฐกิจ” ยังคงเป็นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะสงครามในฉนวนกาซา รวมถึงวิกฤติความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และสงครามในยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES