เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นายปรีดา ยังสุขสถาพร ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ร่วมจัดงาน “ย่านสร้างสรรค์ ย่านสะพานปลากรุงเทพ” โดยมีนายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานย่านสร้างสรรค์ ย่านสะพานปลา เขตสาทรกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขต ผู้บริหารองค์การสะพานปลา ภาคีเครือข่าย และคณะกรรมการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ร่วมในงาน ณ ลานริมน้ำ ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-3 ส.ค. 67 ภายในงานมีอาหารทะเลสด ๆ อาหารทะเลแปรรูป กิจกรรมอีกมากมาย รวมไปถึงดนตรีฟรีทุกค่ำคืน อาทิ โบว์ซุปเปอร์วาเลนไทน์ วาไรตี้แบนต์ เจนซุปเปอร์วาเลนไทน์ และศาลสานศิลป์ เพื่อพัฒนาส่งเสริม ให้เป็นย่านที่มีอัตลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

โดยนายปรีดา กล่าวว่า ในอดีตก่อนจะเป็นองค์การสะพานปลา (อสป.) เดิมการขนถ่ายและจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำเค็มของจังหวัด พระนครหรือกรุงเทพมหานคร มีศูนย์รวมอยู่ที่ถนนทรงวาด อำเภอสัมพันธวงศ์ และการจำหน่ายสัตว์น้ำจืดมีศูนย์รวมอยู่ที่หัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม โดยสถานที่ทั้งสองแห่งมีความคับแคบทำให้การดำเนินธุรกิจไม่สะดวกเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นผู้ดูแลในตอนนั้น ได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาล เมื่อรัฐบาลรับหลักการและเห็นชอบให้ดำเนินการกรมประมงจึงได้เริ่มการก่อสร้างสะพานปลาของรัฐขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลยานนาวา อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ. 2492 ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบกิจการแพปลา พ.ศ. 2496 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2496 องค์การสะพานปลา จึงได้ถือกำเนิดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ทั้งนี้ เพื่อย้อนรอยองค์การสะพานปลาสู่อนาคตจึงได้นำเสนอโครงการ “ย้อนรอยสะพานปลา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต” ซึ่งเป็นการผสมผสานวิถีของการสนับสนุนอุตสาหกรรม ประมงต้นน้ำของประเทศไทย ตั้งแต่อดีตกับการพัฒนาในปัจจุบันที่อาศัยแนวคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ภารกิจขององค์การสะพานปลาสามารถตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอุตสาหกรรมการประมง ตั้งแต่ชาวประมง ผู้ประกอบกิจการแพปลา และผู้ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประมง ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สามารถพัฒนาศักยภาพและนำมาซึ่งการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำ สู่ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป รวมถึงการพัฒนาตลาดปลาเชิงท่องเที่ยวของไทยในอนาคต

นายปรีดา กล่าวต่ออีกว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย และคณะกรรมการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (เขตสาทร) อาทิ สำนักงานเขตสาทร องค์การสะพานปลา มหาวิทยาลัย สถานศึกษา ชุมชนในพื้นที่เขตสาทร และบริษัท โคตรทะเล ซีฟู้ด สุขุมวิท จำกัด ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาย่านสร้างสรรค์และ “ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่าน ทั่วกรุงเทพฯ” โดยแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งย่านสะพานปลา เขตสาทร เป็นสะพานปลาของรัฐและตลาดปลากลางเมืองหลวง แห่งแรกของประเทศไทย เป็นตลาดสินค้าสัตว์น้ำ 24 ชั่วโมง จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำทะเลและน้ำจืด ตลอดจนจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบกิจการ ชุมชน และเขตสาทร ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตลาดปลาของประเทศไทย ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักดังเช่นตลาดปลาของต่างประเทศได้