เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 22 เรื่อง “สานพลังปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า: รอดด้วยรัฐสภา” ว่า บุหรี่ไฟฟ้านำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เช่น การก่อโรคมะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจของผู้สูบและคนใกล้ชิด ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งมีอัตราการสูบสูงกว่าวัยอื่น และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย ดังนั้นรัฐบาล รัฐบาลจึงมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยมีมาตรการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และผู้ใกล้ชิดสร้างการตระหนักรู้ถึงข้อกฎหมายและโทษของการกระทำ เพื่อปกป้องการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเวทีในวันนี้ จะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ ทุกภาคส่วนคือส่วนสำคัญที่จะต้องสานพลังร่วมกัน
ขณะนี้มีกฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้า หรือไม่นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ที่รัฐสภา หากรัฐสภายอมให้มีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามา ก็จะเป็นหนทางแห่งอับเฉา ถ้าหากห้ามนำเข้าก็จะเป็นทางรอดตามธีมงานประชุมวันนี้ ดังนั้นประชาชนต้องทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมาก วันนี้ กระทรวงสาธารณสุข กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศจย. กรมควบคุมโรคมีการรณรงค์อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาในประเทศ จึงอยากวิงวอนไปยังรัฐสภา กรรมาธิการการสาธารณสุข ที่มี นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ เป็นประธานก็จะมาร่วมกันรณรงค์วันนี้เพื่อเด็กไทย และคนไทย
เมื่ถามว่า มีการศึกษาให้แก้กฎหมาย ได้รับรายงานอย่างไรบ้าง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่ให้นำเข้าอยู่แล้ว อย่าไปคิดว่าเขาจะนำเข้า เราต้องช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันพูดคุย ล็อบบี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่สนับสนุนอยู่แล้ว แต่ก็มีกลุ่มคนพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายให้สามารถนำเข้ามาได้ก็ตาม ในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็มีจุดยืนไม่สนับสนุนเช่นกัน
เมื่อถามว่า ปัจจุบันมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายแยกส่วนกัน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้แต่ละหน่วยงานอาจไม่เข้าใจในหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งตนเชื่อว่าทำได้ เพราะถ้าภาครัฐร่วมมือกันรณรงค์อย่างนี้แล้ว ยังมีการดึงดันก็คงไม่มีประโยชน์
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า กฎหมายที่มีอยู่ยังใช้ได้อยู่ โดยเฉพาะการปราบปรามผู้ลักลอบขายทั้งที่วางขายและขายออนไลน์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปถาม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งในรัฐบาลก่อนไม่เอาเลย บอกจัดการไม่ไหวจัดการไม่ได้ ส่วน รมว.ดีอีเอส ในรัฐบาลนี้ ก็เห็นว่า มีความพยายามอยู่ โดยมีการตรวจและปิดเว็บไซต์ไปราวๆ หลักพันเว็บ แต่หากเจ้ากระทรวงสนับสนุนมากกว่านี้ จะยิ่งได้ผลมากกว่านี้ เพราะกว่า 70% มาจากออนไลน์ จึงอยากให้ รมว.ดีอีเอส แอ๊คชั่นมากกว่านี้ รวมถึงศุลากรด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเมื่อวันที่ 11 เม.ย. จึงมาทำกันมากขึ้นทั้งที่ต้องทำมาหลายปีแล้ว ส่วนความพยายามของกลุ่มทุนที่จะแทรกแซงนั้น พบเข้าแทรกเข้าไปเป็นกรรมาธิการในสภา ถึง 2 คน ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ ซึ่งไม่สมควร ทั้งนี้ อนุสัญญาควบคุมยาสูบก็กำหนดห้ามไว้ แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ออกระเบียบปฏิบัติรองรับ สภาจึงกันคนเหล่านี้ไม่ได้ จริงๆ ต้องออกระเบียบภายในกำหนดห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกัยธุรกิจยาสูบร่วมเป็น กมธ. ทั้งที่เป็นข้อกำหนดของกฎหมายบุหรี่โลก แต่ของเรายังไม่มี
“จุดยืนของรัฐบาลที่ประกาศชัดในตอนนี้ถือว่าโอเค เพราะนายกรัฐมนตรีได้ประกาศหลายครั้ง สำนักนายกรัฐมนตรี สคบ. ก็ขับเคลื่อน แต่ปัญหาอยู่ที่ขาลงในการนำสู่การปฏิบัติซึ่งต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ ทั้งศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองระดับจังหวัด ซึ่งรมว.มหาดไทย ก็พูดเรื่องนี้ แต่ต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่จัดการเป็นครั้งๆ ไม่ใช่ว่านายกฯ สั่งที ก็ทำที” ศ.นพ.ประกิต กล่าว.