เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 ส.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมือง ให้ยึดโยงกับประชาชน
โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า ในแนวทางการศึกษามีโจทย์ คือให้พรรคการเมืองเกิดได้ อยู่ได้ ตายยาก เพื่อสร้างระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ และทำให้พรรคสามารถจัดตั้งได้ง่าย โดยลดเงื่อนไขการจัดตั้ง เช่น ทุนประเดิม 1 ล้านบาท ให้มีผู้ร่วมก่อตั้งพรรค 500 คน และลดปริมาณเอกสารรวมถึงเงื่อนไขที่ไม่สามารถทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมถึงข้อกำหนดของการมีสาขาพรรคที่ทำให้การเกิดพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนเชิงประเด็นหรือเชิงพื้นที่ได้ยาก นอกจากนั้น มีบทเพื่อสนับสนุนการขยายฐานสมาชิกพรรคที่รวดเร็ว โดยให้ประชาชนสมัครสมาชิกได้ง่าย ลดเอกสารการสมัครหรือบังคับให้พรรคเก็บค่าสมัครสมาชิก
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นที่ทำให้พรรคการเมืองอยู่ได้ ทั้งนี้ การทำพรรคให้อยู่ได้ในทางการเงิน โดยมีข้อเสนอปรับกติกาให้พรรคการเมืองสามารถระดมทุนจากประชาชนและผู้บริจาครายย่อยได้ง่าย เช่น ขายสินค้าออนไลน์ และทำให้การระดมทุนจากผู้บริจาครายใหญ่ทำได้ยากขึ้น เพื่อป้องกันการครอบงำโดยทุนใหญ่ รวมถึงลดเงื่อนไขที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางธุรการ เช่น ให้จัดประชุมพรรคผ่านออนไลน์ได้ ลดข้อห้ามการนำเงินไปทำกิจกรรรมใดๆ ทางการเมือง
ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นการทำให้พรรคการเมืองตายยาก ทั้งนี้ 17 ปี มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ ถึง 5 พรรค ทั้งนี้ ตนไม่ปฏิเสธกับการลงโทษพรรคการเมืองที่ทำผิดและได้พิสูจน์โดยองค์กรที่เป็นกลาง และบังคับใช้กับผู้กระทำผิดอย่างจำกัดและได้สัดส่วนกับฐานความผิด ดังนั้นข้อเสนอ คือ ปรับรายละเอียดให้เหมาะสม สมดุลและได้สัดส่วน เช่น ลดสภาพบังคับให้ทำไพรมารีโหวต การมีสาขาพรรคตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดในเวลาที่กำหนด ซึ่งมีผลให้พรรคต้องสิ้นสภาพหากไม่ทำตาม เป็นมาตรการที่เป็นการสร้างแรงจูงใจทางการเมือง ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการเมือง
“นอกจากนั้นคือ ทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรคให้สอดคล้องกับหลักสากล และเป็นมาตรการสุดท้ายสำหรับกรณีร้ายแรง ไม่ใช่ใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง เช่น กรณีทุจริต ทำผิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการพรรค เปลี่ยนจากการลงโทษโดยยุบพรรค เป็นลงโทษกรรมการบริหารพรรครายบุคคหรือคณะ ส่วนกรณีข้อหาล้มล้างการปกครอง ให้ยุบพรรคเฉพาะกรณีที่พรรคได้ทำการล้มล้างการปกครองที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทำผิดอาญาว่าด้วยล้มล้างการปกครอง นอกจากนั้น ให้ยกเลิกบทลงโทษว่าด้วยการเพิกถอนสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอขอ กมธ. นั้น เพื่อทำให้พรรคการเมืองยึดโยงพับประชาชน และมีกติกากำกับที่เสรี เป็นธรรม ทันสมัยและสากล หลังจากรับฟังอภิปายและข้อเสนอแนะของ สส. หวังว่าทุกพรรคร่วมกันเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับกลาง เพื่อผลักดันให้ให้เกิดขึ้น
“ไม่รู้ว่าโชคชะตาเล่นตลกหรือไม่ ที่ทำให้รายงานมีข้อเสนอแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองและเงื่อนไขยุบพรรคเข้าสู่สภา ไม่ถึงสัปดาห์ ที่พรรคต้นสังกัดผมจะตัดสินยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ใช้ปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อเสนอไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมายได้ทันกับคำวินิจฉัยยุบพรรคพรรคก้าวไกลวันที่ 7 ส.ค. นี้ ขอให้สบายใจและไว้วางใจว่าไม่ได้เสนอเพื่อผลประโยชน์พรรคใด แต่ยืนยันหลักการที่ถูกต้องและยกระดับสุขภาพของประชาธิปไตยในประเทศไทย” นายพริษฐ์ กล่าว.