เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ กล่าวถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเผยแพร่ผ่านโฆษณารณรงค์ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีการโฆษณาว่าไอจากบุหรี่ไฟฟ้ามีความโปร่งใสของเขม่ามากกว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่มวน แต่ไม่ได้มีความใสจริง เพราะซ่อนสารพิษเอาไว้จำนวนมาก ทั้งนี้มีข้อสังเกตควันบุหรี่ไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาเมื่ออุณหภูมิเริ่มต่ำจะเกิดการควบแน่นเป็นน้ำ ไม่ใช่วันที่รอยระเหยออกไป มีการทดลองเทีบยกันสะหว่างสำลีก่อนและหลังนพไปกรองไอบุหรี่ไฟฟ้า ชั่งน้ำหนักแล้วพบว่า สำลีหลังมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จาก 25 เป็น 58 ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้คืออะไร ปลอดภัยจริงหรือไม่ แล้วน้ำที่ว่านี้เข้าไปสู่ปอดของคนเรา เป็นน้ำธรรมดาหรือน้ำที่เต็มไปด้วยสารหรือโลหะหนัก

“บุหรี่ไฟฟ้าเปรียบเสมือน PM 2.5 บางสารเคมีเล็กกว่าฝุ่นด้วยซ้ำ เมื่อสูดเข้าไปก็จะลงไปที่หลอดลมกระจายไปในเนื้อปอด แล้วเมื่อนั้น จะมีการส่งเข้าไปในเส้นเลือดและใช้เวลาเพียงไม่นานก็จะวิ่งเข้าสู่ร่างกาย อวัยวะสำคัญคือหัวใจ สารนี้จะไปกระตุ้นการอักเสบในเส้นเลือดหัวใจ ทำให้เข้าสู่ภาวะหัวใจอักเสบ หรือกระตุ้นให้มีไขมันอุดตันในเส้นเลือดง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังวิ่งไปที่สมองทำให้เกิดการเสพติด รบกวนการทำงานของสมองให้ช้าลง” นพ.วินัย กล่าว 

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับวัณโรคปอดด้วย เพราะตนเคยรักษาผู้หญิงวัย 26 ปี ที่มีปัญหาเนื้อปอดใช้การได้เพียงเล็กน้อย ทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่มีปัญหาภูมิต้านทานต่ำ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร แต่มีประวัติอยู่ในกลุ่มที่เพื่อนๆ ทุกคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็มีการวิจัยด้วยการนำเซลล์ปอด ซึ่งมีลักษณะเชื่อมกันเป็นร่างแห เหมือนใยแมงมุม จากนั้นมีการพ่นสารนิโคตินลงไปเหมือนกับที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า ทำให้ร่างแหนั้นห่างออกจากกันไปเรื่อยๆ เป็นการเปิดประตูให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอดได้ง่าย ความหนาแน่นของเยื่อบุปอดเสียไป ทำให้ไวต่อการติดเชื้อรับสารพิษได้ตลอด และยังทดลองพ่นสารนิโคติดบวกกับชินนาม่อน หรือสารปรุงสี ปรุงกลิ่น เทียบกับการพ่นชินนาม่อนอย่างเดียว และเทียบกับการพ่นแอร์ธรรมชาติ พบว่า การพ่นชินนาม่อนบวกกับนิโคติน ยิ่งทำให้เยื่อบุถูกทำลายร่างแห เกิดการทำลายมากกว่า โดยสรุปนิโคตินบวกกับชินนาม่อนจะทำให้เกิดปัญหามากกว่า รองลงมาคือนิโคติน, ชินนาม่อน และอากาศบริสุทธิ์ตามลำดับ

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า เดิมทีเราจะพบวัณโรคระยะแพร่กระจายในกลุ่มคนยากจน คนที่อยู่ในพื้นที่แออัด คนไข้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือคนไข้ที่กินยากดภูมิ คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ แต่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ตนเจอคนไข้เป็นวัณโรคระยะลุกลามในกลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างเยอะ ทั้งที่กลุ่มพวกนี้ไม่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงเลย แต่ที่สังเกตพบคือมีพฤติกรรมใช้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนกันหมด ถ้าถามว่าวัณโรคเชื่อมโยงกับบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างไร ก็ต้องยอมรับว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ภูมิต้านทานในปอดลดลงโดยมีรายงานชัดเจน ซึ่งเมื่อไหร่ที่ภูมิต้านทานในปอดลดลง ตัวชี้วัดอันแรก เลยคือวัณโรคมันจะค่อยๆ ออกเหมือนเห็ด ค่อยๆ กินไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ตนตั้งข้อสังเกต จึงอยากเชิญชวนนักวิจัย โดยเฉพาะหมอปอดที่อยู่ในวงการร่วมกันตั้งข้อสังเกตนี้ และเริ่มเก็บตัวเลข ดูความสัมพันธ์ว่าวัณโรคระยะลุกลามในวัยรุ่นไทย เชื่อมโยงกับบุหรี่ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงพอสมควร

หากเขาตั้งใจในการที่จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางออกของคนที่ติดบุหรี่มวน แล้วทำไมบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องเต็มไปด้วยกลิ่น เต็มไปด้วยรูปแบบรูปลักษณ์ที่เย้ายวน ทำไมหลายๆประเทศเริ่มแบนกลิ่น เริ่มแบนการโฆษณากับเด็ก นี่เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไม ตนไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่ยอมรับอะไรง่ายๆ เกินไป เขาพูดอะไรมาเราก็รับ ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามกลับไปว่าทำไม.