เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า เวลานี้ มีความพยายามที่จะออกกฎหมาย เพื่อนิรโทษกรรมผู้ที่บุกรุกป่า และที่ดินของรัฐ มีอยู่ด้วยกัน 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมและล้างมลทินแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐด้านป่าไม้ และที่ดิน พ.ศ…. ร่างดังกล่าวนี้ เสนอขึ้นโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ซึ่งนำเสนอให้ทางกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ และ 2.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ
นายอรรถพล กล่าวว่า ในส่วนของกรมอุทยานฯแล้ว เห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถทำได้เลย เพราะสร้างผลเสียอย่างมหาศาล โดยจะทำให้ผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่า และที่ดินของรัฐครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องทั้งหมด ในที่นี้ รวมไปถึงนายทุนที่บุกรุกที่ดิน ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติด้วย โดยตัวร่างกฎหมายระบุถึงการครอบครองตั้งแต่ก่อนประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติถึงปัจจุบัน ตนเห็นว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน จะรัฐจะสูญเสียพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก และกำลังพยายายามเอาคืน ทั้งจากกลุ่มนายทุน และผู้บุกรุกใหม่จำนวนมหาศาล
“หากถามว่า เป็นตัวเลขเท่าไร ยังไม่สามารถบอกได้ แต่รู้ว่าจำนวนมากจริง ซึ่งปัญหาอีกอย่างที่จะเกิดมาคือ ความเหลื่อมล้ำในสังคมนั่นคือ ในขณะที่คนในเมืองอีกมากมาย ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง และยากลำบาก ในการเป็นเจ้าของที่ดิน ในขณะเดียวกันคนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่า กลับได้ที่ดินมาฟรีๆโดยที่ไม่มีความผิดอะไรเลย อันนี้กรมอุทยานฯไม่สามารถยินยอมให้ทำได้”นายอรรถพล กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ทั้งนี้กรมอุทยานฯได้มีการดูแลให้คนสามารถอยู่กับป่าได้ คนที่อยู่มาก่อนประกาศเขตป่า ทั้งกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯหากพิสูจน์สิทธิได้ก็กันที่ออกให้ หรือการให้เข้าไปทำกินได้ในพื้นที่ที่กำหนด โดยทำกินได้ตลอดชีวิต อีกทั้งยังให้ลูกหลานทำกินต่อไปได้ทุกชั่วอายุคน ขอเพียงอย่าเปลี่ยนมือ อย่าเอาไปขาย ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาก็คือ การเอาที่ไปขายแบบขายปากเปล่าให้นายทุน จากพื้นที่ป่ากลายเป็นบ้านพักตากอากาศ กลายเป็นรีสอร์ต จำนวนมากทั่วประเทศ
“ผมเชื่อว่าถึงอย่างไร ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ผ่านแน่นอน และต้องมีการพิจารณากันอีกยาวนาน คงไม่แล้วเสร็จภายในวันสองวันนี้หรอก มันจะเสียหายรุนแรง ยิ่งกว่าที่เรากำลังพยายามรณรงค์เซฟอุทยานแห่งชาติทับลานในเวลานี้กันอีก”นายอรรถพลกล่าว
ด้านนายธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานพีมูฟ ให้สัมภาษณ์ ว่า ความคืบหน้าการแก้ปัญหาที่ดินทุกปัญหาเวลานี้ ที่มีนายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ทุกฝ่ายมีความเป็นชอบว่า จะต้องผลักดันให้เป็นกฎหมาย ซึ่งเรื่องของชาวบ้านที่มีปัญหากับรัฐ โดยเฉพาะกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น มีหลายคดี มีหลายขั้นตอน รวมๆแล้วประมาณ 40,000 กว่าคดี โดยเวลานี้มีข้อตกลงกันกับทางกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ว่า ระหว่างการแก้ปัญหาร่วมกันนั้น จะไม่มีการจับกุมชาวบ้านเพิ่มเติม แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปปักป้ายห้ามเข้า ในที่ปลูกมันสำปะหลังของชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงร่วมกัน
เมื่อถามว่า หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง นายธีรเนตร กล่าวว่า โดยหลักการก็คือ ทั้ง 40,000 กว่าคดีที่กำลังถูกดำเนินการอยู่ก็จะหลุดพ้นความผิดทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของกรมอุทยานฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2567 มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการป่าไม้ทั้งหมด 30,667 คดี ผู้กระทำผิดทั้งหมด 16,609 ราย โดยแบ่งเป็นคดีบุกรุกพื้นที่ จำนวน 13,760 คดี ผู้กระทำความผิด 2,718 คน พื้นที่ถูกบุกรุกรวม 180,002.71 คดีลักลอบเผาป่า จำนวน 1,140 คดี และคดีการทำไม้ 9,713 คดี ขณะที่ในส่วนกรมป่าไม้ ในช่วงปีงบประมาณ 2561-2565 มีสถิติการดำเนินคดีการกระทำความผิดว่าด้วยการป่าไม้ จำแนกเป็น คดีบุกรุกพื้นที่ จำนวน 9,098 คดี เนื้อที่กว่า 160,598 ไร่ และคดีการทำไม้จำนวน 8,118 คดี
ทั้งนี้สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและล้างมลทินแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐด้านป่าไม้ และที่ดิน พ.ศ…. อาทิ มาตรา 3 บุคคลที่ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า ซึ่งได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่ 1 ธ.ค. 2497 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ ครอบคลุมถึงเขตป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตที่ดินของรัฐประเภทอื่นที่ได้ประกาศไว้ตามกฎหมาย โดยครอบครองและทำประโยชน์หลังประกาศเป็นที่ดินของรัฐ จำนวนไม่เกิน 25 ไร่
มาตรา 4 เป็นการนิรโทษกรรมความผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครองโดยสิ้นเชิงทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ ในฐานความผิดคดีที่เกี่ยวกับดินป่าไม้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2515 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรรมจังหวัด มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน มาตรา 9 ล้างมลทินให้บรรดาผู้ได้นิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.นี้ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ รวมถึงผู้ที่ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับ โดยถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ จ.นราธิวาส พร้อม สส.พรรคประชาชาติ เพื่อเปิดการสัมมนาเรื่อง “ปัญหาที่ดินทำกินในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป จ.นราธิวาส” ในโครงการรัฐสภาเพื่อการพัฒนา จ.นราธิวาส เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 ว่า กระทรวงยุติธรรมเตรียมเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับประชาชนที่อยู่ในป่าเพื่อทำกินให้สามารถอยู่ต่อไปได้ ซึ่งจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ตนก็จะรับกฎหมายนี้เพื่อบรรจุในระเบียบวาระให้สภาพิจารณา ซึ่งคาดว่ากฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่น้อยกว่า 17 ล้านคน.