สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ว่า ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 แห่ง รวมถึงจีน มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ และล้มเหลวในการเป็นประเทศที่ร่ำรวย ตามรายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งมีการเปิดเผยแผนงานที่ครอบคลุมไปถึงประเทศมีรายได้สูง

ในรายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2567 เวิลด์แบงก์ระบุว่า โดยปกติแล้ว ประเทศต่าง ๆ จะติดกับดักดังกล่าวเมื่อมีรายได้ต่อหัวประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 282,504 บาท) ซึ่งการจะก้าวข้ามไปได้จึงเป็นเรื่องยาก

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 แห่ง ซึ่งคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 75 ของประชากรโลก จัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในทศวรรษหน้า “การต่อสู้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระดับโลกอาจชนะหรือแพ้ ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นส่วนใหญ่” นายอินเดอร์มิต กิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก กล่าว พร้อมเรียกร้องให้หา ‘แนวทางใหม่’ โดยให้มีการเน้นการลงทุนก่อนนำเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศมาใช้ และในท้ายที่สุด กลยุทธ์ดังกล่าวจะสร้างสมดุลระหว่างการลงทุน, การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ และนวัตกรรม

“ด้วยแรงกดดันด้านประชากร, สิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น จึงไม่มีที่ว่างสำหรับข้อผิดพลาด” ธนาคารโลกยกตัวอย่าง ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งเคยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูง “หากพวกเขาใช้แนวทางเดิม ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะแพ้ในการแข่งขัน เพื่อสร้างสังคมที่มั่งคั่งในระดับปานกลางภายในกลางศตวรรษนี้” กิลล์ กล่าว พร้อมระบุว่า พวกเขาหวังจะเปลี่ยนแปลงตัวเลขนี้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES