เมื่อวันที่ 3 ส.ค. จากกรณีที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้ความพยายามที่จะออกกฎหมาย เพื่อนิรโทษกรรมผู้ที่บุกรุกป่า และที่ดินของรัฐ มีอยู่ด้วยกัน 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมและล้างมลทินแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐด้านป่าไม้ และที่ดิน พ.ศ…. ร่างดังกล่าวนี้ เสนอขึ้นโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ซึ่งนำเสนอให้ทางกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ และ 2.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และล้างมลทินแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐด้านป่าไม้ และที่ดิน พ.ศ…. มีทั้งหมด 10 มาตรา  สาระสำคัญ อาทิ มาตรา 3 บุคคลที่ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า ซึ่งได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่ 1 ธ.ค. 2497 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ   ครอบคลุมถึงเขตป่าไม้ถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ  เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตที่ดินของรัฐประเภทอื่นที่ได้ประกาศไว้ตามกฎหมาย โดยครอบครองและทำประโยชน์หลังประกาศเป็นที่ดินของรัฐ จำนวนไม่เกิน 25 ไร่

มาตรา 4 เป็นการนิรโทษกรรมความผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครองโดยสิ้นเชิงทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้  ในฐานความผิดคดีที่เกี่ยวกับดินป่าไม้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2515 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรรมจังหวัด มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน   มาตรา 9 ล้างมลทินให้บรรดาผู้ได้นิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.นี้ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ รวมถึงผู้ที่ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับ โดยถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ เป็นต้น.