นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดภายหลังพรรคเพื่อไทยหักปากกาเซียนฉีกทุกตำราการเมือง ยอมไล่ออก 2 ส.ส.   เดินหมากให้ฝ่ายตรงข้ามกินเบี้ยฟรีๆ 2 ตัว

เข้าทำนองเน้นแต่ความสะใจ เชือดไก่ให้ลิงดูถึงโทษานุโทษ สำหรับส.ส.ที่แหกมติพรรค !

ตามท้องเรื่องที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. มีมติอย่างเป็นทางการขับ 2 ส.ส. พ้นจากสถานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย

คนแรกคือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ข้อหา  มีพฤติการณ์กล่าวหาพรรคและผู้บริหารของพรรคด้วยการแถลงต่อสื่อมวลชนหลายครั้งติดต่อกัน อันมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค เป็นการทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของพรรค ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรง การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 ข้อ 19 (3) และ (8) และเป็นการกระทำผิดวินัยและจริยธรรมของการเป็นสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรค ข้อ 113 (3) และ (5)  

พรรคเพื่อไทย ลงมติ ด้วยคะแนน 131 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง ไล่พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับพรรค ข้อ 118 (4)

คนที่สอง คือนางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ข้อหามีพฤติการณ์ฝักใฝ่พรรคการเมืองอื่น ไม่ยึดมั่นในเจตนารมณ์ข้อหาและอุดมการณ์ของพรรค อีกทั้งเป็นการกระทำผิดซ้ำสองในพฤติการณ์เดียวกัน ซึ่งพรรคเคยมีมติลงโทษไปแล้ว ตามคำสั่งพรรคเพื่อไทย ที่ 0045/2563 ลงวันที่ 4 ก.พ.63 ซึ่งการฝักใฝ่พรรคการเมืองอื่นของนางพรพิมลถือเป็นการผ่าฝืนข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 ข้อ 19 (3) และ (7) และถือเป็นการกระทำผิดวินัย และจริยธรรมของการเป็นสมาชิกตามข้อบังคับพรรคข้อ 113 (2) (3) และ (12)

พรรคเพื่อไทยลงมติด้วยคะแนน 134 คน ไม่เห็นด้วย 1 คน ให้พ้นพรรค ตามข้อบังคับพรรค ข้อ 118 (4)

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ นายศรัณย์วุฒิและนางพรพิมลต้องเดินตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) หาพรรคใหม่ สังกัดภายใน กรอบ  30 วันนับแต่วันที่พรรคเพื่อไทย มีมติไล่พ้นพรรค

หากพ้นเส้นตาย  30 วัน ทั้งคู่ไม่มีพรรคสังกัด จะส่งผลให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ทันที!

ทั้งนี้ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 167 ประกอบมาตรา 99 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี เดือน มี.ค. 2566

หากมองทั้งกระดานการเมืองในจังหวะที่รัฐนาวาภายใต้การถือหางเสือของ พล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลาบริหารประเทศ 17 เดือน

ฟันธงล่วงหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ,พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย พร้อมอ้าแขนต้อนรับ  บรรดา ส.ส.งูเห่าที่กำลังหาพรรคใหม่สังกัด

อย่าลืมว่าในทางการเมืองจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคมีผลโดยตรงกับอำนาจเจรจา ต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง

ไล่ตั้งแต่การกำหนดสัดส่วนโควตารัฐมนตรี, ตำแหน่งประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ไปจนถึงการยกมือโหวตไม่ไว้วางใจ และ ผ่านกฎหมายสำคัญในสภาฯ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการเมือง 

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคใหม่จะส่งบรรดาส.ส.งูเห่าที่หักหลังพรรคเก่าลงเลือกตั้งหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

หากถึงตอนนั้นถูกมองว่าหมดผลประโยชน์ทางการเมือง  มีแนวโน้มสูงต้องถูกเขี่ยทิ้งเข้าทำนอง “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” 

บทเรียนการเมืองไทยในอดีต มีให้เห็นมากมาย เมื่อ ส.ส.หมดราคาทั้งศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ ไม่จำเป็นต้องอุ้มชู มีแต่จะกำจัดทิ้ง เมื่อหมดผลประโยชน์ทางการเมือง !