เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “Believe It or Not! ทางการเมืองไทย ตอน เดือนพิพากษา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม ถึง 1 สิงหาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในเดือนสิงหาคม 2567
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.42 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 29.62 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 15.27 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 8.63 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 1.06 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อมากและค่อนข้างเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ (จำนวน 313 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับบุคคลที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคร่วมรัฐบาล หากมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.95 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) รองลงมา ร้อยละ 30.99 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) ร้อยละ 11.82 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) ร้อยละ 8.31 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ร้อยละ 2.23 ระบุว่าเป็น นายชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย) และร้อยละ 14.70 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองในเดือนสิงหาคมนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.44 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 27.94 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 24.20 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 13.44 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 1.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่า เชื่อมากและค่อนข้างเชื่อว่าจะมีการยุบพรรคการเมืองในเดือนสิงหาคมนี้ (จำนวน 493 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ สส. จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบ จะไปสังกัดกับพรรคร่วมรัฐบาล พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.97 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 27.99 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 16.84 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 14.20 ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นไปได้
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการพ้นโทษของคุณทักษิณ ชินวัตร จะทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 26.87 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 19.01 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 11.45 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ…