กระบวนการยุบพรรคทำให้พรรคการเมือง“ไม่มีสมาธิ” ในการทำงาน จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงหรือไม่ก็แล้วแต่ต่างมุมมอง เพราะในอดีต เมื่อมีการยุบพรรคไทยรักไทย ไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน และตั้งพรรคเพื่อไทยในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ดูเหมือนว่า เสียงผู้สนับสนุนก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ยังมีการยึดตัวบุคคลระดับหนึ่ง
แต่ที่น่าจะกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญคือ “กระบวนการทำงานในสภาของพรรคชะงักไป และเกิดภาวะงูเห่า” อย่างกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ และก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ว่า มีการใช้“นิติสงคราม”ในการกลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ใช่“ตุลาการภิวัฒน์”อย่างที่พยายามจะพูดๆ กันแล้ว
เพราะการยุบพรรคมันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายฉันทามติประชาชน และก็ไม่แน่ว่า“ถ้า”ใครมีเจตนาให้ยุบพรรคเพื่อสกัดคู่ต่อสู้ทางการเมืองหรืออุดมการณ์ เขาจะชนะด้วยวิธีเช่นนี้หรือไม่ เพราะเมื่อมีการยุบพรรค ผู้ถูกยุบก็สื่อสารถึงเรื่องโอกาสที่เสียไป การกลั่นแกล้งทางการเมือง ทำให้เกิดกระแสที่ไม่สนับสนุนการยุบพรรค
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. มองเรื่องนี้ว่า “เรื่องนี้เป็นข้อกังวลของนานาประเทศทั่วโลกไปแล้ว ที่ต่างก็ออกแถลงการณ์ ในเรื่องที่องค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สามารถจะมายุบพรรคการเมืองซึ่งมาจากประชาชน ในส่วนของ สว.เองก็จะต้องแสดงจุดยืน ซึ่งน่าจะมีการออกแถลงการณ์ออกมา”
ก่อนหน้านี้ นายพริษฐ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เสนอรายงาน เรื่อง ข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมือง ให้ยึดโยงกับประชาชน ข้อเสนอหนึ่ง คือให้พรรคการเมืองเกิดได้ อยู่ได้ ตายยาก เพื่อสร้างระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
“17 ปี มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญถึง 5 พรรค ผมไม่ปฏิเสธกับการลงโทษพรรคการเมืองที่ทำผิดและได้พิสูจน์โดยองค์กรที่เป็นกลาง และบังคับใช้กับผู้กระทำผิดได้สัดส่วนกับฐานความผิด ต้องทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรคให้สอดคล้องกับหลักสากล และเป็นมาตรการสุดท้ายสำหรับกรณีร้ายแรง ไม่ใช่ใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง”
นายพริษฐยกตัวอย่างด้วยว่า เช่น กรณีทุจริต ทำผิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการพรรค เปลี่ยนจากการลงโทษโดยยุบพรรค เป็น ลงโทษกรรมการบริหารพรรค ( กก.บห.) รายบุคคลหรือคณะ ส่วนกรณีข้อหาล้มล้างการปกครอง ให้ยุบพรรคเฉพาะกรณีที่พรรคได้ทำการล้มล้างการปกครองที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทำผิดอาญาว่าด้วยล้มล้างการปกครอง
ก่อนจบการนำเสนอรายงาน นายพริษฐแสดงอาการขำขื่นว่า “ไม่รู้ว่าโชคชะตาเล่นตลกหรือไม่ ที่ทำให้รายงานมีข้อเสนอแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองและเงื่อนไขยุบพรรคเข้าสู่สภา ไม่ถึงสัปดาห์ ที่พรรคต้นสังกัดผมถูกจะตัดสินยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่ใช้ปัจจุบัน ข้อเสนอไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงกฎหมายได้ทันกับคำวินิจฉัย”
ก็หวังว่า รายงานเรื่องพรรคการเมืองเข้มแข็งนี้ จะถูกนำไปใช้ปรับปรุงกฎหมาย เหล่า สส.สว.ควรคิดได้แล้วว่า การยุบพรรคจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาจไม่ได้แก้ไขตัว พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้ แต่อาจต้องนำไปถกกันหนักๆ ถ้ามีการบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.)
ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องลุ้นกันอีกว่า กระบวนการตั้ง ส.ส.ร.จะได้ตัวแทนแบบไหน ถูกแทรกแซงหรือไม่.