สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ว่า องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่าการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องเชื้อโรคอันตรายอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะพบต้นตอของการแพร่ระบาดหลังการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19ครั้งแรกเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่นทางตอนกลางของประเทศจีนเมื่อเดือนธ.ค.2562 แต่ทางการจีนปฏิเสธข่าวการตั้งสมมุติฐานตามทฤษฎีว่าเชื้อไวรัสอาจหลุดรอดออกมาจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งของจีน และประกาศว่าจะไม่มีการอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศเดินทางเข้าไปสอบสวนอีก

หลังจากที่คณะทำงานซึ่งนำโดยองค์การอนามัยโลกได้ใช้เวลาสอบสวนสี่สัปดาห์ ตรวจสอบและติดตามในพื้นที่ทั้งในและโดยรอบเมืองอู่ฮั่นเมื่อช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมากับนักวิทยาศาสตร์ของจีน จากนั้นได้มีรายงานร่วมกันออกมาในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่าเชื้อไวรัสอาจแพร่จากค้างคาวมาสู่คนโดยผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะ แต่จำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

นายแพทย์เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การสอบสวนมีอุปสรรคตรงที่ยังขาดแคลนข้อมูลดิบในช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาด และจำต้องตรวจสอบกับห้องทดลองด้วย

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้เสนอชื่อแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการจำนวน 26 คน เพื่อศึกษาวิจัยต้นตอของเชื้อโรคร้าย โดยมีมาเรียน คูปมานส์, เธีย ฟิชเชอร์, ฮุง เหงียน และหยาง ยุนกุ่ย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ของจีน ซึ่งเคยร่วมคณะทำงานสอบสวนที่เมืองอู่ฮั่นมาแล้ว ส่วนมาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าทีมเทคนิคขององค์การอนามัยโลกกล่าวแสดงความหวังว่าจะต้องมีภารกิจเพิ่มเติมของนานาชาตินำโดยองค์การอนามัยโลกเข้าไปสอบสวนในประเทศจีนอีก ซึ่งจีนก็ควรจะมีพันธกิจในด้านความร่วมมือด้วย เพราะยังมีอีกหลายสิบหัวข้อศึกษาที่จะต้องดำเนินการ เพื่อหาว่าไวรัสแพร่ระบาดมาถึงคนได้อย่างไร

เครดิตภาพREUTERS