เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นมิติใหม่ของการแก้หนี้ข้าราชการ โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นสักขีพยานความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทย และกระทรวงการคลัง โดย 9 หน่วยงานในสังกัด ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ 7 สหกรณ์ในสังกัด เพื่อช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มเปราะบาง แก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
โดย “สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง” สำหรับข้าราชการที่ในอนาคตจะมีสิทธิได้รับหนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอดจากกรมบัญชีกลางเมื่อเกษียณอายุ และมีสิทธิจะได้รับบำนาญรายเดือนหลังเกษียณอายุ โดยสามารถรวมหนี้รายย่อยทุกประเภท ทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ จากทั้งธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินอื่นๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สินเชื่อแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งสินเชื่อบ้าน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) และสินเชื่อบ้านแลกเงิน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3.50% ต่อปี 3 ปีแรก หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา (อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา 4.49% ต่อปี โดยคำนวณจากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อายุสัญญาสูงสุด 40 ปี ผ่อนชำระ 4,700 บาท/เดือน) โดยได้รับยกเว้นค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ประกัน
- สินเชื่อแบบไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
5 จุดเด่นโครงการ
- สามารถร่วมใช้บริการทางการเงินกับสหกรณ์ที่ข้าราชการเป็นสมาชิก (Co-Exist) โดยที่ให้มีเงินเหลือใช้เพื่อดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30% และยังสามารถหมดหนี้ได้หลังเกษียณ
- อัตราดอกเบี้ยต่ำ “คงที่” ตลอดอายุสัญญา ไม่ผันผวนไปตามทิศทางของดอกเบี้ย วางแผนการบริหารหนี้ระยะยาวและสภาพคล่องได้ดียิ่งขึ้น
- ขยายระยะเวลาคืนหนี้ และอายุผู้กู้ ให้สามารถชำระได้สูงสุดถึงอายุ 80 ปี จากเดิมกำหนดอายุถึง 60 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการ
- สร้างวินัยการเงิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน ในระหว่างเข้าร่วมมาตรการฯ ลูกหนี้จะเข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยธนาคารร่วมมือกับเครดิตบูโร ซึ่งได้พัฒนาเครื่องมือในการแจ้งเตือน หากลูกหนี้มีการก่อหนี้เพิ่มและร่วมมือกับสหกรณ์ในการแชร์ข้อมูลสถานะหนี้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (iLock Bureau)
- โปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงิน เป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพทางการเงินออนไลน์ที่จะช่วยให้ทราบสถานะทางการเงินเพื่อช่วยวางแผนเริ่มต้นจัดการหนี้ได้ง่ายๆผ่าน https://krungthai.com/link/รวมหนี้ยั่งยืน