เมื่อเวลา 15.12 น. วันที่ 6 ส.ค. ที่รัฐสภาในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

โดย นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวอภิปราย 3 ประเด็น ว่า 1. ปัญหาการแจกเงินดิจิทัลฯ จะแจกได้ตลอดไปหรือไม่ และจะเอาเงินที่ไหนมาแจก ตนคิดว่าประเทศเราจะรุ่งเรืองก้าวหน้าและแข่งขันได้ การแจกเงินช่วยไม่ได้ เรื่องนี้ถ้าไปถามชาวบ้านเขาไม่ผิด ถ้าเขาบอกว่าอยากได้ เพราะการได้เงินดีกว่าไม่ได้ โครงการแจกแบบนี้เป็นการนำเงินภาษีของชาวบ้านมาแจกชาวบ้านโดยตรง ไม่มีการเพิ่มทักษะอะไรให้ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความสุขกับเงินที่ได้มาง่ายๆ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่ในระยะยาวก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม โครงการเช่นนี้จะทำให้ชาวบ้านไม่ช่วยเหลือตัวเอง และรอการช่วยเหลือจากรัฐ ทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นนโยบายในการหาเสียงรอเลือกตั้งครั้งหน้า จะได้โครงการแบบนี้อีก ซึ่งในฐานะ สว. ควรเป็นหลักให้กับสังคม คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสังคมในระยะยาว

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า 2.รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าการแจกเงินหมื่นด้วยแอปพลิเคชันใหม่ จะใช้งานกี่ครั้งและมีต้นทุนในการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้อีกเท่าไหร่ ต้นทุนแฝงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจำนวน 10 ล้านคน ที่จะต้องเรียนรู้ ทั้งผู้ขายและร้านค้าจะต้องลงทุนอีกเท่าไหร่ ต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องจ่ายเพิ่มในแอปพลิเคชันใหม่ ในขณะที่แอปพลิเคชันเป๋าตังของรัฐบาลมีอยู่แล้ว มีการลงทะเบียนอย่างดี มีข้อมูลอยู่แล้วหลาย 10 ล้านคน ทำไมถึงไม่นำมาต่อยอด สามารถขยายแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพิ่มรูปแบบการทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องนำภาษีของประชาชนมาพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ ซึ่งคงจะเป็นหลักพันหลักหมื่นล้านบาท มีใครที่ได้ประโยชน์ในการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้บ้างหรือไม่

นพ.วีระพันธ์ กล่าวต่อว่า และ 3. ความเสี่ยงที่นำเงินในอนาคตมาใช้ในโครงการดิจิทัลฯ การนำเงินของแผ่นดินจำนวนมหาศาลมาแจกให้ประชาชน โดยการนำเงินในอนาคตของประเทศมาใช้อาจมองได้ว่ามีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ซึ่งไม่คุ้มค่ากับต้นทุนประเทศที่จะเสียไป และอาจจะมองไปได้ว่าเป็นนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ซึ่งนโยบายแบบนี้อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 9 ฉะนั้นการแจกเงินดิจิทัลฯ มีส่วนที่อาจจะผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้

นพ.วีระพันธ์ กล่าวอีกว่า ตนฟังเพื่อนสมาชิก สว. อภิปรายเรื่องเบ็ดกับปลา ทำให้นึกถึงกลอนสมัยก่อนที่จำได้และเข้ากับเหตุการณ์นี้โดยตรง ว่า “นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด นักการเมืองแจกแท็บเล็ต กษัตริย์แนะเคล็ดวิชา นักการเมืองห่วงอำนาจ มหาราชห่วงประชา นักการเมืองสร้างสรรค์สัญญา องค์เจ้าฟ้าสร้างสรรค์ธรรม”.