สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ว่า บรรดานักวิจัยแสดงความกังวลว่า ‘เอ็กซ์’ อาจเป็นแหล่งข้อมูลเท็จทางการเมือง เนื่องจากมัสก์ ซึ่งเคยสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความสามารถในการโน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านบัญชีส่วนตัวของเขา ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 193 ล้านคน
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถอนตัวออกจากการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต สู้ศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อเดือนที่แล้ว และสนับสนุนนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ให้เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครต แชตบอตที่ชื่อว่า ‘Grok’ (กร็อก) เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเส้นตายของการลงคะแนนเสียง ซึ่งได้รับการส่งต่อจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ
“เราขอให้คุณดำเนินการแก้ไขกร็อกทันที เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้” จดหมายระบุ พร้อมการลงนามโดยรัฐมนตรีด้านการเลือกตั้งของรัฐมินนิโซตา, เพนซิลเวเนีย, มิชิแกน, วอชิงตัน และนิวเม็กซิโก
รายงานระบุว่า ระบบของแชตบอตกร็อกแจ้งว่า กำหนดเส้นตายการลงคะแนนเสียงได้ผ่านไปแล้วสำหรับ 9 รัฐ และสื่อเป็นนัยว่าแฮร์ริสไม่มีสิทธิเข้ามาแทนที่ไบเดน “เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงในทั้ง 9 รัฐ” จดหมายระบุ “การลงคะแนนเสียงยังไม่ปิด และยังคงมีเวลาอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐได้”
จดหมายระบุว่า กร็อกยังคงส่งต่อข้อมูลดังกล่าว ซึ่งถูกขยายผลด้วยการโพสต์หลายครั้ง และเข้าถึงผู้คนนับล้านคนนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ จนกระทั่งได้รับการแก้ไขเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายสิบล้านคนในสหรัฐ กำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง เอ็กซ์จึงมีความรับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนที่ใช้แพลตฟอร์ม จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้อง เกี่ยวกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการลงคะแนนเสียงของตน” จดหมายระบุ
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิจัยเตือนว่าข้อมูลลวงที่ถูกสร้างโดยเอไอ อาจถูกนำไปใช้เพื่อหลอกลวงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และก่อให้เกิดความตึงเครียดในสภาพแวดล้อมทางการเมืองของสหรัฐ ซึ่งมีความแตกแยกอยู่แล้ว
อนึ่ง มัสก์เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการแชร์วิดีโอดีพเฟค ซึ่งมีแฮร์ริสเป็นตัวละครหลักกับผู้ติดตามของเขา วิดีโอดังกล่าวมีเสียงพากย์เลียนแบบแฮร์ริส ซึ่งกล่าวถึงไบเดนว่าแก่ แล้วประกาศว่า เธอไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการบริหารประเทศ วิดีโอไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า เป็นเพียงการล้อเลียน แต่มีเพียงอีโมจิหัวเราะเท่านั้น ต่อมามัสก์ออกมาชี้แจงว่า วิดีโอชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสียดสีทางการเมืองเท่านั้น
นักวิจัยแสดงความกังวลว่า ผู้ชมอาจสรุปผิด ๆ ว่าแฮร์ริสกำลังล้อเลียนตัวเอง และทำให้ไบเดนเสื่อมเสียชื่อเสียง พวกเขามองว่า เอ็กซ์ลดความพยายามในการควบคุมเนื้อหา และอนุญาตให้บัญชีที่เคยถูกแบนจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จกลับมาใช้งานอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ เอ็กซ์ถูกวิจารณ์ด้วยว่า ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางสังคม ระหว่างการจลาจลของฝ่ายขวาจัด ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES