เมื่อเวลา 14.00 น.  วันที่ 7 ส.ค. พันเอก ณัฐวุฒิ หอมวิเศษวงศา ฝ่ายเสนาธิการประจำกรมกิจการพลเรือนทหารบก เป็นประธานในพิธีปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567  โดยมีพันเอก พัศวีร์ โปชะดา ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25  พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ  ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชม ให้การต้อนรับ และมีประชาชนจิตอาสา นักเรียน นักศึกษา 500 คน  ได้เข้าร่วมกันปลูกป่าชายเลนทดแทน  เนื้อที่ 3.5 ไร่  โดยมีพันธุ์ไม้ต้นโกงกางใบใหญ่ จำนวน 500 ต้น และต้นโปรง  200 ต้น ณ บริเวณบ่อนากุ้งร้าง บ้านห้วยปลิง หมู่ 7 ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง  

เนื่องจากด้วยปัจจุบันปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ  โดยเฉพาะป่าชายเลนที่ถูกทำลาย ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากการเข้าไปบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลนของนายทุนและประชาชน  ทำให้ปัจจุบันส่งผลกระทบซึ่งป่าชายเลนนั้นเป็นระบบนิเวศที่สำคัญประกอบไปด้วยพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์หลายชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันเป็นแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน  รวมถึงประชาชนในจังหวัดระนอง เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ป่าชายเลนไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้น และการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ กรมกิจการพลเรือนทหารบก จึงได้มอบหมายให้  กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25  จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานราชการ ปกครองท้องถิ่น  และศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดระนอง

พันเอก ณัฐวุฒิ กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาวิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรป่าชายเลนที่ถูกทำลาย ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น  ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ และความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งป่าชายเลนนั้น  เป็นระบบนิเวศที่สำคัญ ประกอบไปด้วยพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์หลายชนิดดำรงชีวิตร่วมกัน เป็นแหล่งพลังงานอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ เป็นแนวป้องกันชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะพังทลาย ช่วยกำบังคลื่นลม กระแสน้ำและพายุ รวมถึงเป็นแหล่งประมงใกล้ชายฝั่งของชาวประมงในพื้นที่  

การจัดโครงการในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง  โดยต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า ในการอนุรักษ์ป่าชายเลนไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้น และการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการของทุกหน่วยงาน เพื่อให้การฟื้นฟูป่าชายเลนเกิดประสิทธิภาพ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ