เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” โพสต์ข้อความพื้นสีแดงระบุว่า “ชวนอ่านลำดับเหตุการณ์ ปัญหาการทับซ้อน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน (ฉบับเต็ม)” โดยมีคอมเมนต์ข้อความระบุว่า “ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รวบรวมข้อมูลความเป็นมาทั้งหมดก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพื้นที่การทับซ้อน จนนำมาสู่การประกาศเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางส่วน เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ชวนอ่านลำดับเหตุการณ์ปัญหาการทับซ้อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ที่ https://www.seub.or.th/bloging/work/2024-250/

รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร A journey through coordinates การเดินทางผ่านพิกัด 14-15 กันยายน 2567 ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร”

โดยลิงก์ดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” มีข้อความ “ลำดับเหตุการณ์ปัญหาการทับซ้อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน”

2506
มติ ครม. 12 พ.ย. 2506 ให้รักษาพื้นที่ป่านครราชสีมา-ปักธงชัย-โชคชัย เป็นพื้นที่ป่าไม้ จึงได้กำหนดให้ป่าวังน้ำเขียว / ป่าครบุรี / ป่าเขาภูหลวง / ป่าแก่งใหญ่ / ป่าแก่งดินสอ เป็นป่าไม้ถาวร
หมายเหตุ: ป่าวังน้ำเขียว / ป่าครบุรี คือพื้นที่อุทยานฯทับลาน

2509-2516
ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 แทน พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า ต่อมามีการประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้ป่าครบุรี / ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน / วังน้ำเขียว / ป่าเขาภูหลวง เป็นป่าสงวนแห่งชาติ

2518
ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่กิ่งอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 (ประกาศทับป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน) และในช่วงเวลานี้ในเขตอำเภอเสิงสางและครบุรี กลายเป็นพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และมีการต่อสู้รบกันทำให้รัฐบาลต้องอพยพประชาชนมาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี [1] หน้า 18

2521
ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2521 ทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนเขตปฏิรูปที่ดินกับป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียวที่ถูกประกาศมาก่อนแล้ว

ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา:

  1. พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติทันที เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตชองที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น
  2. ความหมาย ของความว่า “…..เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่แปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร…..” นั้น มีความหมายเพียงว่า เมื่อ ส.ป.ก. มีความพร้อมที่จะนำที่ดินแปลงใดในเขตประกาศในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินไปดำเนินการปฏิรูปแน่นอนแล้ว และ ส.ป.ก. มีแผนงานพร้อมทั้งงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการได้ทันที พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวก็จะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ

ดังนั้นหาก ส.ป.ก. จะเข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินจะต้องมีแผนงานพร้อมทั้งงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการได้ทันที [3] การกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินจะจะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ, หน้า 1 และเมื่อมีประกาศใช้ข้อบังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 นั้น กฎหมายกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 เป็นผู้ดำเนินการแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีหน้าที่ที่จะต้องกันพื้นที่ที่ใช้ในกิจกรรมของกรมป่าไม้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ส่งคืนให้แก่กรมป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องต่อไป [3] การกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินจะจะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ, หน้า 6

2522 – 2523
รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ โดยอนุมัติให้ ส.ป.ก. ประสานกรมป่าไม้ เพื่อขอดำเนินการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพเสื่อมโทรม ซึ่งกรมป่าไม้ ส.ป.ก. และหน่วยงานความมั่นคง สำรวจรังวัดป่าสงวนป่าวังน้ำเขียว (ป่าวังน้ำเขียวแปลง 1 และป่าวังน้ำเขียวแปลง 2) ที่กรมป่าไม้มอบให้ ส.ป.ก. นำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วเสร็จ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาการในเขต ส.ป.ก. และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง ซึ่งรัฐได้อพยพราษฎรที่อาศัยอยู่กระขัดกระจายในพื้นที่ป่า มาอยู่ร่วมกันโดยจัดสรรพื้นที่ให้อยู่อาศัยทำกิน และมีการจัดตั้ง มบ.ไทยสามัคคี ในพื้นป่าสงวนเสื่อมโทรมพื้นที่ตำบลวังน้ำเขียว ริมทางหลวงสายปักธงชัย-กบินทร์บุรี กม.75 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า บริเวณพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวแปลง 2 นั้น ได้มีการสำรวจเข้ามาในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งดินสอฯ บางส่วน ซึ่งป่าดังกล่าวนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้อนุมัติให้ ส.ป.ก. เข้ามาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งไม่ปรากฎหลักฐานการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวจากกรมป่าไม้ [2] หน้า 3

2524
ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลว่า กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ไม่ได้ทำการสำรวจพื้นที่จริงก่อนการประกาศกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน แต่เป็นการนำพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3 ป่า ได้แก่ ป่าครบุรี ป่าวังน้ำเขียว และป่าแก่งดินสอฯ ซึ่งได้มีการสำรวจรังวัดแนวเขตป่าในพื้นที่จริง มาประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ [2] คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6 สิงหาคม 2562, หน้า 4 ทำให้เกิดการซ้อนทับกับพื้นที่หมู่บ้านไทยสามัคคี โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง รอยต่อ อำเภอเสิงสาง และที่ทำกินของราษฎรในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว ซึ่งอยู่มาก่อนพระราชกฤษฎีกา

2525-2533
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2525 อนุมัติให้กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (โครงการ พมพ.) ในบริเวณพื้นที่รอยต่ออำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา โดยมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี และอุทยานแห่งชาติทับลาน (ดำเนินการในห้วงปีงบประมาณ 2526-2532) ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 กองทัพภาคที่ 2 ได้เสนอให้กรมป่าไม้พิจารณาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 กรมป่าไม้ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน [2] คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6 สิงหาคม 2562, หน้า 4

2528
ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 1,145 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 1,145 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้ยกเลิกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว ซึ่งประกาศตามกฎกระทรวงฉบับที่ 505 (พ.ศ. 2515) และประกาศกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียวขึ้นใหม่ เนื่องจากได้ส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้ ส.ป.ก. ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว และบางส่วนยังถูกนำไปประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยที่การประกาศกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว ขึ้นใหม่นี้ ส่งผลทำให้แนวเขตป่าไม้ถาวรเปลี่ยนแปลงตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ประกาศใหม่ ยกเว้นเฉพาะส่วนที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติทับลานที่ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรอยู่ ตามนัยของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 [2] คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6 สิงหาคม 2562, หน้า 4-5

2531
ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอครบุรีและอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน [2] คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6 สิงหาคม 2562, หน้า 5

2533-2535
17 เมษายน 2533 โครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (โครงการ คจก.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลชุดของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2535 ส่งมอบพื้นที่เพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจำนวน 17 พื้นที่ให้ ส.ป.ก. นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าครบุรี รวมอยู่ด้วยบางส่วน (พื้นที่ดำเนินการส่วนใหญ่อยู่ในโครงการ พมพ. (ด้านทิศตะวันออก) และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน) [2] คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6 สิงหาคม 2562, หน้า 5

2535
มติ ครม. 10 และ 17 มีนาคม ให้มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เป็น 3 เขต (Zone) ได้แก่ เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) เขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ (Zone E) และเขตพื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตร (Zone A) ทั้งนี้เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ที่มีการเรียกร้องบางส่วน [2] คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6 สิงหาคม 2562, หน้า 5

2537
มีคำสั่งกรมป่าไม้ 1145/2537 ให้เจ้าหน้าที่รังวัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน (หรือที่เรียกว่า แนวเขตสำรวจเพื่อกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ. 2537) แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ [2] คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6 สิงหาคม 2562, หน้า 5

2538
บันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกลับคืนกรมป่าไม้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้ได้มอบให้กับ ส.ป.ก. นำไปปฏิรูปที่ดินกลับคืนกรมป่าไม้ บันทึกข้อตกลงมีรายละเอียดดังนี้

  1. พื้นที่ที่ไม่สมควรจะนำไปปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจะต้องดำเนินการกันออก ได้แก่
    1.1 พื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่า
    1.2 พื้นที่ที่มีสภาพหรือศักยภาพการทำเกษตรไม่คุ้มค่า
    1.3 พื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ และพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
    1.4พื้นที่ภูเขาสูงชัน หรือพื้นที่ที่มีความลาดชัน ตั้งแต่ 35% ขึ้นไป และพื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร
    1.5 พื้นที่ที่กรมป่าไม้มีภาระผูกพันตามกฎหมาย
    1.6 พื้นที่ป่าชายเลน
    1.7 พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ยังไม่มีราษฎรถือครองทำกิน
  2. พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้ได้มอบให้ ส.ป.ก. ซึ่งประกาศกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว ให้ปฎิบัติดังนี้
    2.1 พื้นที่ที่ ส.ป.ก. รังวัดแปลงที่ดินแล้ว ส.ป.ก. จะคืนพื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดินให้กรมป่าไม้
    2.2 พื้นที่ที่ ส.ป.ก. ยังไม้รังวัดแปลงที่ดิน กรมป่าไม้และ ส.ป.ก. จะร่วมกันดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพื่อกันพื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดินคืนกรมป่าไม้
  3. พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้ได้มอบให้ ส.ป.ก. ยังไม่ได้ประกาศกำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. จะร่วมดำเนินการกันพื้นที่ที่ไม่สมควรจะนำไปปฏิรูปที่ดินออกก่อนที่ ส.ป.ก. จะดำเนินการประกาศเขตปฏิรุปที่ดิน [6]

2540
มติ ครม. 22 เมษายน 2540 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ เร่งรัดจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามที่ได้ดำเนินการกันพื้นที่ไว้แล้ว และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กันพื้นที่ แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ

2541
มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ได้ปรับเปลี่ยนหลักการสำคัญคือ ยกเลิกการใช้วิธีการปรับปรุงแนวเขตฯ และมุ่งเน้นการพิสูจน์สิทธิในที่ดินและการครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างต่อเนื่องแทน โดยยึดวันที่สงวนหวงห้ามป่าไม้ตามกฏหมายครั้งแรก ซึ่งหมายถึงสันประกาศป่าสงวนแห่งชาติไปเป็นลำดับ และหากพบว่าราษฏรมีสิทธิดังกล่าว จะได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยในที่ดินนั้นต่อ และหากเป็นพื้นที่เปราะบางทางนิเวศ อาจมีการอพยพเคลื่อนย้ายราษกฏรออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งจัดสรรที่ทำกินอยู่อาศัยให้ใหม่ [6]

2543
กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 44/2543 ลงวันที่ 11 มกราคม 2543 แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยมีคณะทำงานของจังหวัดร่วมสำรวจรังวัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานด้วย โดยมีการรังวัดหาค่าพิกัด GPS และมีการฝังหลักแนวเขต (หรือที่เรียกว่า แนวเขตสำรวจเพื่อกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ. 2543) ต่อมาส่วนวิศวกรรมกรมป่าไม้ได้จัดส่งรายงานการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามคำสั่งกรมป่าไม้ 1145/2537 ได้ระยะทางทั้งหมด 456.10 กิโลเมตร และฝังหลักเขตพร้อมหมายเลขสลัก จำนวน 1,348 หลัก แต่ทั้งนี้ผลการปฏิบัติงานรังวัดและพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ยังปรากฏร่องรอยแปลงที่ดินทำประโยชน์อีกเป็นจำนวนมาก แต่ราษฎรไม่นำชี้แนวเขตแปลงถือครองที่ดินไม่แสดงตนและไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นปัญหาจากผลของนโยบายซึ่งราษฎรหวังให้ดำเนินการแก้ไขแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามผลการรังวัดปรับปรุงแนวเขต [2] รายงานการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 2/2556, 1 พฤศจิกายน 2556, หน้า 22

ทั้งนี้การเริ่มสำรวจแนวเขตที่จะปรับปรุงพื้นที่ทำกินของราษฎรออกจากอุทยานแห่งชาติทับลานได้ดำเนินการตามความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2537 ต่อมามติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 เห็นชอบให้มีการปรับปรุงกันพื้นที่ที่ได้สำรวจไว้ออกจากอุทยานแห่งชาติและส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่มติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 แต่การดำเนินการใดๆ ที่สอดคคล้องกับมตินี้จึงต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งการสำรวจปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานดำเนินการถึงปี 2543 (ที่เรียกกันว่า เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 43) แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ทำให้ปัจจุบันยังคงยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิม (พ.ศ. 2524)

2554 – 2555
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา กรณี

  1. อธิบดีกรมป่าไม้และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวหาว่ามีการบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณอำเภอวังน้ำเขียว ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย
  2. ทางราชได้ประกาศเขตพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานทับซ้อนกัน ทำให้แนวเขตพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานขาดความชัดเจน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน
  3. หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบละเลยการปฏิบัติหน้าที่ให้ต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็น

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขโดยการปรับปรุงแผนที่และให้มีการตรวจสอบแนวเขตที่ยังไม่มีความชัดเจน ตลอดจนนำนโยบายการปรับปรุงเขตพื้นที่ป่าไม้มาดำเนินการให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งให้ชะลอการจับกุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการปรับปรุงแนวเขต และให้รัฐพิจารณาแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินของประชาชน ตามความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน [2] สรุปผลการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีปัญหาการถือครองที่ดินของประชาชนบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน, 25 พฤษภาคม 2563, หน้า 2

2557-2558
เกิดเหตุการณ์ทวงคืนผืนป่าจำนวน 365 คดี

2561
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ขอให้พิจารณาสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานซ้อนทับกับที่ดินของประชาชน โดยประชาชนบางส่วนมีเอกสารหลักฐานทางที่ดิน เช่น ส.ค.1, น.ส.3 ก., โฉนดที่ดิน, ส.ป.ก. 4-01 และ ส.ท.ก. เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อน

สามารถแบ่งสภาพปัญหาออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
กลุ่มที่ 2 ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม
กลุ่มที่ 3 ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง (โครงการ พมพ.) และโครงการจัดการที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (โครงการ คจก.) [2] สรุปผลการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีปัญหาการถือครองที่ดินของประชาชนบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน, 25 พฤษภาคม 2563, หน้า 3

2562
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัย วันที่ 6 สิงหาคม 2562 โดยส่งข้อเสนอแนะให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ด้วยการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และให้ยึดถือแนวเขตตามที่ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดร่วมกันมาเมื่อปี พ.ศ. 2543 แต่ทางหน่วยงานชี้แจงว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เนื่องจากการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมีผลกระทบต่อการดำเนินการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของไทย และรูปคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ อีกทั้งไม่สอดคล้องกับมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติที่ให้ยึดถือแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ปี พ.ศ. 2524 ตลอดจนในการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ทุกแห่ง [2] สรุปผลการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีปัญหาการถือครองที่ดินของประชาชนบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน, 25 พฤษภาคม 2563, หน้า 4

2563
25 พฤษภาคม 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้เหตุผลต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จะมีผลกระทบต่อความเป็นมรดกโลกของพื้นที่ การดำเนินคดีผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ มติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และแนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม.18 มิถุนายน และ 26 พฤกศจิกายน 2561 ในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายสำคัญคือ ให้ราษฏรที่มีการสำรวจตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ได้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐต่อตามเงื่อนไขและกฏหมายที่ออกมารองรับโดยไม่ต้องพิสูจน์สิทธิแล้ว [7]

ประเด็นข้อห่วงใยทางคดีโดยเฉพาะที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ทางผู้ตรวจฯ ชี้แจงว่า การใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตปี 2543 ไม่มีผลกระทบทางคดี ทางผู้ตรวจฯ อ้างว่าได้มีการปรึกษาหารือกับทางสำนักอัยการสูงสุดแล้ว แต่ได้ข้อสรุปว่า หากมีดำเนินการตามข้อเสนอแนะของทางผู้ตรวจฯ จะส่งผลต่อการสั่งฟ้องคดีของอัยการ เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนสถานะที่ดินไปเป็น ส.ป.ก. และสถานะของคดีจากการกระทำผิดทางอาญาไปเป็นการทำผิดเงื่อนไขของ ส.ป.ก. แทน ซึ่งต้องไปดำเนินการตามกฏระเบียบของ ส.ป.ก. ในการเพิกถอนการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่กระทำผิดเงื่อนไข

ในส่วนของกระบวนการในชั้นศาล ทางผู้ตรวจฯ กลับอ้างถึงกฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่ปี 2562 ซึ่งมีข้อบัญญัติให้การถือครองที่ดินอุทยานฯ เป็นความผิด ผู้ตรวจราชการแผ่นดินยังอ้างต่อไปว่าในขณะที่ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฏีกาปรับปรุงแนวเขต เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีมีอำนาจตามกฎหมาย (ไม่มีการระบุหรือคำอธิบายที่ชัดเจนว่า ผลกระทบต่อคดีในกระบวนการในชั้นศาลเป็นการหารือกับสำนักอัยการฯ หรือเป็นข้อสรุปของผู้ตรวจราชการแผ่นดินเอง)

เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติอีกครั้ง และขอให้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาข้อกฎหมายทางคดีเพิ่มเติม คณะกรรมการอุทยานฯ ในการประชุมในเดือนมิถุนายน 2563 ยืนยันมติเดิมให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2524 ในการดำเนินการในพื้นที่ [7]

21 กันยายน 2563 ผู้ตรวจราชการแผ่นดินนำเรื่องเสนอนายกฯ พลเอกประยุทธ์ตามกฏหมายให้รับทราบและนำเข้า ครม. ซึ่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 2564 ครม. รับทราบและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ทส. รับไปดำเนินการให้มีความคืบหน้าพร้อมทั้งเร่งรัดงานตามมาตรา 64 อีกทั้งยังสั่งการให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่พลเอกประยุทธ์เป็นประธานเร่งรัดปรับปรุงเส้นแนวเขตทับซ้อนในพื้นที่รัฐตามแนวทาง One Map (การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ โดยใช้แผนที่ที่มีความละเอียดคือ 1:4,000 มาปรับปรุงเส้นแนวเขตของแต่ละหน่วยงานให้ตรงกันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้เกิดเป็นเส้นแนวเขตเดียวกัน) [7]

2565
22 พฤศจิกายน 2565 ครม.มีเห็นชอบมติ คทช. จากการประชุมในเดือนกันยายน เรื่องแนวทางแก้ไขผลกระทบจาก One Map และการต้องคำนึงถึงมติ ครม. ข้อเสนอของกรรมาธิการ และคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินประกอบ ในการประชุม คทช. รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธานแทนนายกฯ พลเอกประยุทธ์

ราว 1 เดือน ในวันที่ 16 ธันวาคม 2565 คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่ฯ ภายใต้ คทช. มีการประชุมและมีมติเสนอ คทช. ให้ความเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินฯ (พลเอกประวิตรเป็นประธาน) พิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นอกแนวเขต ส.ป.ก. โดยหนึ่งใน 2 แนวทางคือ ข้อเสนอของผู้ตรวจฯ [7]
2566

16 มกราคม มติ คทช. 1/66 ให้ใช้ one map พิจารณาพื้นที่นอกแนวเขตที่กรมป่าไม้ส่งให้ ส.ป.ก. ทำให้พื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่อนุรักษ์และชุมชนถูกเพิกถอนไป 273,310 ไร่ (19.52% ของพื้นที่อุทยานฯ) โดยพื้นที่ที่ถูกเพิกถอนจะดำเนินการปรับเป็นพื้นที่รับผิดชอบของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 4-01 และจะนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดที่ดินในอนาคต

10 มีนาคม มติ คทช. 2/66 เห็นชอบ

  1. แนวทางการใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเร่งรัดดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน
  2. การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
    2.1 พื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินตามแนวทาง คทช. โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และระเบียบ
    2.2 พื้นที่ผนวกเพิ่มเป็นอุทยานประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

มติ ครม. 14 มี.ค 2566 เห็นชอบ 2 มติ
ทบทวนมติ ครม. 13 กุมภาพันธ์ 2533 เรื่องกรณีการจำแนกพื้นที่ที่กันออกจากการกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตเพิกถอนให้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ได้จำแนกออกจากป่าไม้ถาวรโดยใช้เป็นหลักการครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้เกิดความชัดเจนทางปฏิบัติ

เห็นชอบมติ คทช. 2/66 เพิ่มเติมข้อ 4 การประกาศเขตหวงห้ามเขตที่ดินของรัฐ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และหากประชาชนอยู่ในที่ดินของรัฐให้พิสูจน์สิทธิตาม คทช. และยกเว้นตาม มติ ครม. 2541

15 มีนาคม นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ร้องศาลปกครองเพิกถอนมติ คทช.-ครม. ใช้เส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543

2567
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 จากการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ได้มีวาระเพื่อทราบ เพื่อพิจารณา/ข้อหารือ เรื่อง “การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในพื้นที่อนุรักษ์เป็นเรื่องสำคัญกับงานอนุรักษ์ทรัพยากรในประเทศไทยมาก ควรให้ความสำคัญในการพิจารณาการตัดสินใจอย่างเหมาะสม และควรเป็นวาระการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ

โดยผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติทั้ง 2 ท่าน คือ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ และนายศศิน เฉลิมลาภ ไม่เห็นชอบกับมติ ครม.ที่ให้ใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ 2543 เนื่องจากหากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

เรียบเรียงคำพูดจากการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการอุทยานแห่งชาติ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่นั่งในที่ประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อเรื่องนี้เข้ามา 2 ครั้ง ตั้งแต่สมัยผู้ตรวจการแผ่นดินพยายามที่จะผลักดันให้เพิกถอน และคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ทำไมถึงเป็นวาระเพื่อทราบ ขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมและขอสงวนสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น

“ประเด็นนี้เข้าคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง และไม่ผ่าน จะให้เร่งรัดและกลับไปใช้มาตรา 64 ไม่ใช่แค่เรื่องของคนยากจน มันเป็นเรื่องของคนที่ไปทับแล้วยึดถือครอบครองโดยผิดกฎหมาย และสร้างรีสอร์ท สร้างบ้านพักตากอากาศ และกำลังดำเนินคดีถึง 500 หลัง และมันจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ว่าถ้าเราเพิกถอนแล้วกลุ่มคนพวกนั้นได้ประโยชน์ จะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับประเทศ แล้วเราก็อุตส่าห์คิดมาตรา 64 ขึ้นมาในอุทยานแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินที่ไม่ใช่แค่ทับลาน แต่มีเกือบทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดยอมในทับลานเลย คือถ้าเราอยู่ในมาตรา 64 เข้าจุดแข็งก็คือว่าเรายังมีพื้นที่ควบคุม สามารถทำโครงการอนุรักษ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสิงสางเกือบแสนไร่และมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรายังอยู่ในมาตรา 64 ของพรบ.อุทยานแห่งชาติ ก็จะเป็นประโยชน์ในการฟื้นฟู และขอสงวนสิทธิ์ว่าไม่เห็นด้วยกับมติ ครม. ที่จะให้ดำเนินการในครั้งแนวทางการเพิกถอน เพราะคิดว่าจะเป็นตัวอย่างไม่ดีในอนาคต”

นายศศิน เฉลิมลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตตามบทบาทของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ตามวงเล็บสอง เราต้องให้ข้อเสนอแนะเรื่องต่อการเพิกถอนหรือการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเราทำมาตลอด อย่างเช่นในวาระ 3.3 เราก็ต้องวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของอ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลู แล้วค่อยมีมติเห็นชอบ

ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ถ้าเราไม่มาพิจารณากัน แล้วเราใช้มติ ครม. เข้ามาในวาระเพื่อทราบ ดังนี้มันจะเสียกระบวนการแล้วจะเป็นบรรทัดฐานให้การแก้ไขปัญหาของกรมอุทยานฯ ในลักษณะพื้นที่นี้ในการเพิกถอนพื้นที่อื่นๆ ต่อไป แล้วก็มันจะทำให้เกิดภาวะซึ่งกรมอุทยานฯ จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม แล้วก็จะเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายย่อย ซึ่งตลอดเวลาที่ผมเป็นคณะกรรมการอุทยานฯ มาร่วม 6-7 ปี เราเพิกถอนพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่การขอเพิกถอนพื้นที่นี้ชัดเจนว่าไปเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเราก็เห็นใจเขานะครับในการที่เขาเสียหาย ในการเป็นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ผมขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เห็นชอบ มติ ครม. 14 มีนาคม 2566 แม้จะเป็นวาระเพื่อทราบ”

***ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มาตรา 16 วรรค (2) เสนอแนะการกำหนดพื้นที่ใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายหรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรของประเทศ

26 ม.ค. 67 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่

29 กุมภาพันธ์ 67 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมจัดเสวนา “จากทับลานถึงเขาใหญ่” ผืนป่าที่ถูกเฉือน ? เนื่องจากสิทธิและที่ดินทับซ้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศเป็นปัญหาที่คาราคาซังต่อเนื่องมาอย่างยาวนานของประเทศไทย แม้จะมีแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นเป็นที่ยุติได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการแก้ไขปัญหาแนวทางนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายและการดำเนินงานที่ผ่านมา หากรัฐบาลใช้แนวทางของ One map ที่ให้ดำเนินใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนจากการซื้อขายเปลี่ยนมือ และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่มีปัญหาการทับซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ

28 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 67 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ตามแผนการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 โดยมีข้อพิจารณาที่ใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็นดังนี้  

  1. ท่านเห็นชอบในการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานหรือไม่ อย่างไร
  2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร
  3. มั่นใจหรือไม่ว่าราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม และจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนการครอบครองไปอยู่ในมือของนายทุนหรือผู้มีฐานะดี
  4. การใช้แนวเขตเมื่อปี 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่ม มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่
  5. จะเป็นแนวทางที่ใช้ขยายลุกลามให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่นๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน
  6. เป็นการขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือไม่ อย่างไร
  7. เป็นการส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่

11 ก.ค. 67 มูลนิธิสืบฯ และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือคัดค้านต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาตรวจสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ที่ดิน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการส่งเสริมบำรุงรักษา และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคุ้มครองสัตว์ เพื่อพิจารณากระบวนการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และเกิดการทบทวนการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ทรัพยากรป่าไม้ แลสัตว์ป่าของประเทศชาติ

แถลงการณ์ สมาคมอุทยานแห่งชาติ กรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน แถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดย กลุ่มผ้าขาวม้าติ่งป่า สมาคมเซฟ ไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์ มูลนิธิอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก

17 กรกฎาคม 67 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมพิจารณาการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินและแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี หลังจากที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้ายื่นจดหมายถึงกรรมาธิการการที่ดินฯ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบและทบทวนขั้นตอนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,000 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แจ้ง 7 ข้อห่วงกังวลต่อที่ประชุม สำหรับการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติ ครม. ดังนี้

  1. เส้นปรับปรุงแนวเขตปี 2543 ยังไม่ได้มีการประกาศในพระราชกฤษฎีกา อีกทั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในปี 2556 ขอยกเลิกการดำเนินการจัดทำเส้นปรับปรุงแนวเขตในอดีต รวมถึงปี 2543 โดยให้เหตุผลถึงความไม่สมบูรณ์ในการจัดทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้อมูลการถือครองที่ดินและให้ยึดเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ปี 2524 และในช่วงปี 2563 มีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานฯ ยังคงเห็นชอบให้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในป่าอนุรักษ์ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
  2. เส้นปรับปรุงแนวเขตปี 2543 มีข้อมูลห่างจากปัจจุบัน 23 ปี และสภาพความเป็นจริงพื้นที่ถูกระบุว่าเป็นป่าสมบูรณ์ที่ถูกผนวกเพิ่มเข้ามาตามมติคณะรัฐมนตรี 14 มีนาคม 66 สภาพปัจจุบันมีคนอยู่อยู่อาศัย ทำกิน และเป็นป่าชุมชนของกรมป่าไม้ จำนวน 3 ป่า โดยหลังจากที่มีการสอบถามข้อมูลจากกรมป่าไม้ พบว่ามีการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนตามกฎหมายแล้ว จำนวน 2 ป่า เท่ากับซ้ำเติมปัญหาอีกหรือไม่
  3. มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ไม่ให้นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ส่งมอบให้เป็น ส.ป.ก. และมตินี้ยังไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด
  4. การปรับปรุงแนวเขต อช.ทับลาน จะมีผลต่อรูปคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และในขั้นการพิจารณาคดีของศาล หรือไม่
  5. ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ : ผืนป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งแห่งที่สองของประเทศรองจากผืนป่าตะวันตก เขาใหญ่ไม่มีเสือมาหลายปีแล้ว เรามีความคาดหวังว่าเสือจากฝั่งป่าทับลานจะเดินข้ามไปผืนป่าเขาใหญ่อีกครั้ง รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆที่มีข้อมูลงานศึกษาวิจัยที่ชัดเจนว่ามีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราบและตรงบริเวณที่เป็นแนวเชื่อมต่อผืนป่า
  6. พื้นที่เพิกถอนบริเวณแนวเชื่อมต่อผืนป่า 304 เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน และเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า
  7. ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาและหาข้อมูลเพิ่มเติม

19 ก.ค. 67 องค์กรภาคีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ WWF ประเทศไทย / WCS ประเทศไทย / Panthera ประเทศไทย / Freeland ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ การกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินของรัฐบาลไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่คุ้มครอง ทั้งในรูปแบบของการจัดการอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “do no harm” หรือ หลักการ “ไม่สร้างความเสียหาย”

ขอบคุณข้อมูล เพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร”