เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า สืบเนื่องจาก รพ. ในสังกัดกระทรวงฯ กำลังประสบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ โดยเฉพาะงบผู้ป่วยใน ที่นอนรักษาตัวใน รพ. เดิมทาง สปสช. การันตีอัตราจ่ายค่าชดเชยผู้ป่วยในต่อหน่วย คิดเป็น 8,350 บาท/adjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน: เป็นเกณฑ์การคำนวณจ่ายเงินให้ รพ.ของ สปสช.) ขณะที่ต้นทุน รพ. อยู่ที่ 13,412 บาท/adjRW โดยเดือน มิ.ย. 2567 สปสช. จ่ายแค่ 7,000 บาทต่อหน่วย ทำให้ รพ. ที่รักษาผู้ป่วยในแล้ว ไม่ได้รับเงินคืนถึง 236 แห่ง จาก 902 แห่ง และยังถูกหักเงินเดือนจากการรวมงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวอีก ส่งผลให้เงินบำรุงติดลบหลังหักหนี้ต่างๆ แล้ว ถึง 270 กว่าแห่ง และ รพ.หลายสิบแห่งเข้าสู่วิกฤติการเงินระดับ 7
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่า ขณะนี้มี รพ.วิกฤติระดับ 7 ถึง 24 แห่งจริง อย่างที่มีการพูดกันในแวดวงสาธารณสุขหรือไม่ นพ.อนุกูล กล่าวว่า ใช่ และ รพ. ที่ประสบปัญหาวิกฤติระดับ 7 มาจากการจัดสรรเงินของ สปสช. เพราะรายรับส่วนใหญ่ของ รพ. ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มาจากงบบัตรทอง นอกนั้นก็จะมีเงินจากประกันสังคม และเบิกจากข้าราชการ และเงินบริจาค เรียกว่าเป็นเงินหลักๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็น รพ.ขนาดใหญ่ หาก รพ.ขนาดเล็ก ยิ่ง รพ.ชุมชน จะอยู่ได้เพราะบัตรทอง หากเปลี่ยนเกณฑ์ก็รับผลกระทบแน่ๆ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีเลขาฯ สปสช. บอกว่างบปลายปิด เป็นกติกาตั้งแต่ปี 2565 มีเงินเหลือก็คืนให้เกินกว่าอัตรา 8 พันกว่าบาทต่อหน่วย นพ.อนุกูล กล่าวว่า หากกล่าวเช่นนี้ ขอให้นำข้อมูลมาเปิดเผยอย่างมีธรรมาภิบาลว่าจ่ายเกินจริง หรือเอาเงินที่เหลือไปไหน หากคืน รพ. คืนไปที่แห่งใด เนื่องจากข้อมูลจากชมรม รพศ./รพท. ไม่พบว่ามีการคืนกลับให้ รพ. ส่วนข้อห่วงใยจาก สปสช. ว่า หากเปลี่ยนเป็นงบปลายเปิด เมื่อมีเงินเหลือจะคืนไม่ได้นั้น ก็ไม่เป็นไร ขอเพียงให้ สปสช. จ่ายตามต้นทุนจริง เพราะเมื่อ รพ. ให้บริการในปริมาณที่มาก ก็ควรได้รับการจัดสรรงบตามการบริการเช่นกัน ที่จริงมติบอร์ด สปสช. เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ให้หาเงินจากกองทุนอื่น หรือของบฯ เพิ่มเติม แต่มติเมื่อวันที่ 3 ก.ค. กลับไม่พบประโยคนี้แล้ว กลายเป็นให้ลดลงตามส่วน เหลือจ่ายเพียง 7 พันบาทต่อหน่วยเท่านั้น
“สิ่งที่น่าห่วงคือ สปสช. กำลังสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ ยกระดับบัตรทองหรือไม่ เพราะจ่ายต่ำกว่าต้นทุนมาก ถือเป็นการลดระดับบัตรทองมากกว่า ยกตัวอย่าง ต้นทุนรักษาไส้ติ่งประมาณ 1.4 หมื่นบาท แต่ สปสช. จ่าย 9 พันกว่าบาทมาตลอด 4-5 ปี และเดือน มิ.ย. กลับจ่ายแค่ 7 พันบาท นี่ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น สปสช. ต้องไปอธิบายให้สำนักงบประมาณเข้าใจว่า ต้นทุนจริงเท่าไหร่ การบริการเกิดขึ้นเท่าไหร่ ต้องจ่ายตามจริง ไม่ใช่โยนความเสี่ยงให้รพ.ทั้งหมด” นพ.อนุกูล กล่าว
ประธานชมรม รพศ./รพท. กล่าวด้วยว่า สปสช. กับรัฐบาลควรทำให้การบริการขั้นพื้นฐานในการดูแลคนไข้ได้คุณภาพมาตรฐานก่อน ส่วนบริการเสริมอื่น หรือนวัตกรรมต่างๆ ค่อยเพิ่มเติมทีหลัง แต่ขณะนี้ สปสช. กลับเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่บริการหลักในการรักษาคนไข้ เช่น ปรับลดงบที่รักษาผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบจาก 8,350 เหลือ 7,000 บาท (ต้นทุน 13,000 บาท) แต่ สปสช. กลับไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการผ่าตัดแปลงเพศ ในขณะที่งบประมาณในงานบริการหลักไม่ได้เพิ่มเติมให้เพียงพอ ก็ส่งผลกระทบ หากมีงบเพิ่มเติมคงไม่มีปัญหา แต่นี่มาตัดเงินบริการพื้นฐานเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง.