เมื่อวันที่ 9 ส.ค. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์โรคหัวใจ แถลงข่าว ได้รับรางวัลเหรียญทอง Gold Award จาก The American Heart Association จากสมาพันธ์แพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำปี พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นรางวัลคุณภาพมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ก้าวสู่โรงพยาบาลหัวใจมาตรฐานระดับโลก แห่งแรกของประเทศไทย
โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาฯ ให้บริการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจร โดยมีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด มีเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ให้บริการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแบบครบวงจร จากทีมอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ให้บริการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความซับซ้อนเป็นพิเศษแก่ประชาชนทุกระดับ และเป็นที่พึ่งทางสุขภาพของประชาชนคนไทย จึงเป็นที่มาของการได้รับรางวัลดังกล่าว
ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค รอง ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กรและทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีนโยบายพัฒนาคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยทุกด้านไม่เพียงเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น โดยมีการวางแผนการรักษาทั้งด้านยา เครื่องมือการวินิจฉัยรักษาโรคให้ดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ประเภทหัวใจล้มเหลวให้ได้ตามแนวทางเวชปฏิบัติ ในการดูแลผู้ป่วยตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ได้รับรางวัลเหรียญทอง เป็นความภาคภูมิใจของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของศูนย์โรคหัวใจ รวมถึงทุกหน่วยงานที่ร่วมกันรักษามารตฐานในการดูแลผู้ป่วยและพร้อมพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างยั่งยืน
รศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ หัวหน้าอนุสาขาวิชาภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ และเป็น clinical champion ของรางวัลนี้ กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการคุณภาพการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานเวชปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวตั้งแต่เดือนม.ค. พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน ต้องผ่านการตรวจรับรองเกณฑ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยห้ามตกเกณฑ์ในการดูแลผู้ป่วยตลอด 730 วัน ในปัจจุบัน มีงานวิจัยที่ในระดับสากลรับรองว่า หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตามเกณฑ์ตัวชี้วัดเหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสมรรถนะการออกกำลังที่ดีขึ้น และมีอัตราการนอนโรงพยาบาลซ้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
“ผู้ป่วยบางรายก่อนเข้ารับการรักษามีอาการเหนื่อยมาก มีภาวะน้ำท่วมปอดต้องนอน รพ.ซ้ำบ่อยครั้ง หลังได้รับการรักษาตามเกณฑ์ดังกล่าวพบว่าผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น และไม่เคยกลับเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.อีกเลย ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหนักถูกส่งตัวมาจากแพทย์โรคหัวใจจากต่าง รพ.เพื่อปลูกถ่าย (เปลี่ยน) หัวใจที่ รพ.จุฬาฯ แต่หลังจากการได้รับการดูแลตามมาตรฐานดังกล่าว ผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้นและไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจอีก” รศ.พญ.ศริญญา กล่าว
ด้าน รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่ ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน แต่เป็นภาวะที่หัวใจซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องปั๊มเลือดทำงานได้ลดลง เลือดจึงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง ขณะเดียวกันเมื่อปั๊มเสียการทำงาน จะมีน้ำคั่งบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น น้ำคั่งในปอด ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ นอนแล้วหายใจอึดอัดต้องลุกขึ้นมานั่ง หรือน้ำคั่งบริเวณขา อาจมีขาบวม น้ำคั่งในช่องท้องจะมีอาการท้องอืด เป็นต้น ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดได้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจทุกประเภท สาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคลิ้นหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือจากภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลว ปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 64 ล้านคนทั่วโลก ส่วนสถิติในประเทศไทยยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่ามีผู้ป่วยประมาณ 4 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตสูง 20-30% ต่อปี และอัตราการเสียชีวิตที่ 5 ปี เกิน 50% เรียกว่าน่ากลัวกว่าโรคมะเร็งบางชนิดอีก สำหรับการรักษาจะต้องรักษาสาเหตุของโรคหัวใจที่ทำให้หัวใจปั๊มเลือดผิดปกติ การให้ยาตามมาตรฐานตามเวชปฏิบัติ การฝังเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในหัวใจ และในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจจำเป็นต้องได้รับการใส่เครื่องพยุงหัวใจ หรือการปลูกถ่ายหัวใจ
ขณะที่ ผศ.(พิเศษ) นพ.สมชาย ปรีชาวัฒน์ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ จะดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในทุกมิติ ทั้งการรักษาด้วยยา การรักษาด้วยการฝังเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์หัวใจ การจี้ไฟฟ้าหัวใจ การสวนหัวใจ การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด การเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวน การผ่าตัดหัวใจทุกชนิดทั้งชนิดทั่วไปและชนิดซับซ้อน การฝังเครื่องปั๊มหัวใจเทียม การปลูกถ่ายหัวใจ โดยมีอาจารย์แพทย์ที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ในการรักษา และยังมีเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่ทันสมัยระดับสากล เรามีความมุ่งหวังในการพัฒนาศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และมีนวัตกรรมปรับใช้กับผู้ป่วยคนไทย และพัฒนาต่อเนื่อง.