ผศ.นพ.สิระ กอไพศาล สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาบอกเล่าให้ความรู้เรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการผิดปกติต่อมไทรอยด์ ว่า หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “ไทรอยด์อ้วน” กับ “ไทรอยด์ผอม” ซึ่งเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของ ต่อมไทรอยด์ แต่อาจไม่รู้ว่าโรคนี้คืออะไร และส่งผลต่อร่างกายอย่างไร เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมหาคำตอบถึงความเชื่อที่แชร์ต่อ ๆ กันมาถึงสัญญาณเตือนต่อม ไทรอยด์ผิดปกติ ความเชื่อไหนจริงหรือหลอก
สำหรับหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ คือการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญต่ออวัยวะทุกอย่างในร่างกาย ทำให้อวัยวะเหล่านี้ทำงานได้อย่างสมดุล
ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ คืออะไร
ต่อมไทรอยด์ผิดปกติแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.ไทรอยด์เป็นพิษ คนไข้จะมีค่าไทรอยด์สูง ร่างกายกระปรี้กระเปร่า กระตือรือร้น ขี้ร้อน เหงื่อแตกง่าย น้ำหนักลง ใจสั่น ใจเต้นเร็ว 2.ไทรอยด์ต่ำ หรือไทรอยด์ไม่ทำงาน คนไข้จะมีค่าไทรอยด์ต่ำ ขี้หนาว น้ำหนักขึ้น อ่อนเพลีย ไม่อยากทำอะไร ไม่มีแรง หากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของต่อมไทรอยด์ผิดปกติได้ คนไข้ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจค่าไทรอยด์ เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ทำงานมากเกินไป อวัยวะต่าง ๆ จะทำงานมากผิดปกติ หากไทรอยด์ไปกระตุ้นหัวใจ ส่งผลให้ใจสั่น ใจเต้นเร็ว หรือหัวใจวายได้ หากไปกระตุ้นตับอาจทำให้ตับอักเสบ และถ้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อสลายได้ แต่หากมีไทรอยด์ต่ำ อวัยวะต่าง ๆ จะทำงานช้าลง ใจเต้นช้า ระบบการเผาผลาญน้อยลง ขี้หนาว น้ำหนักขึ้น จะเห็นได้ว่าไทรอยด์เป็นตัวสร้างสมดุลของการทำงานของอวัยวะทั้งหมด ร่างกายเราจึงควรมีค่าไทรอยด์ในเกณฑ์ปกติเพื่อให้อวัยวะทุกอย่างทำงานได้ตามปกติ
ทั้งนี้ โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติมีหลายอาการที่ดูคล้ายกับโรคอื่น ๆ และยังเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้บางครั้งในชีวิตประจำวันทั่วไป หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อที่แชร์ต่อๆ กันมาถึงสัญญาณเตือนของโรคนี้ แต่อาการแบบไหนบ้างที่บ่งบอกว่าอาจมีความเสี่ยงของต่อมไทรอยด์ผิดปกติเข้าจริงๆ
5 สัญญาณเตือนต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ได้แก่ 1.คลำเจอก้อนที่คอ ซึ่งความเชื่อนี้จริง เพราะตามปกติ ต่อมไทรอยด์ มีขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร หากพบก้อนอาจเป็นไปได้ว่าเป็นต่อมไทรอยด์ ยิ่งถ้ามีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กลืนติด กลืนลำบาก เสียงแหบ เป็นต้น คนไข้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คว่าเป็นไทรอยด์ผิดปกติหรือไม่
2.ร้อนง่าย หนาวเร็ว ซึ่งความเชื่อนี้จริงบางส่วน การที่เราร้อนง่ายหนาวเร็วจริงๆ แล้วมีหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยคือไทรอยด์ผิดปกติ หากคนไข้มีค่าไทรอยด์สูงหรือไทรอยด์เป็นพิษจะมีอาการขี้ร้อน หงุดหงิดง่าย แต่หากมีค่าไทรอยด์ต่ำจะมีอาการขี้หนาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
3.น้ำหนักลดผิดปกติ ความเชื่อนี้จริงบางส่วน แม้น้ำหนักของคนเราจะเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงได้จากหลายสาเหตุ แต่ในคนไข้ไทรอยด์เป็นพิษ จะมีอาการที่เห็นได้ชัดเจน คือน้ำหนักลดผิดปกติ แม้จะกินอาหารตามปกติหรือมากกว่าเดิมก็ตาม
4.ผมแห้ง หยาบกระด้าง ร่วงผิดปกติ ความเชื่อนี้จริงบางส่วน โดยปกติฮอร์โมนไทรอยด์จะส่งผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย จึงส่งผลต่อผิวหนังและผมได้เช่นเดียวกัน คนไข้โรคไทรอยด์ต่ำจึงอาจมีผิวแห้ง ผมหยาบกระด้าง ผมร่วงง่าย
5.ปวดตา เคืองตา มองเห็นผิดปกติ ความเชื่อนี้จริงบางส่วน อาการปวดตา เคืองตา มีได้หลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคืออาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษเมื่อไทรอยด์ขึ้นตา คนไข้จะมีอาการตาบวม ตาแห้ง เคืองตา ตาแดง
สำหรับการรักษาไทรอยด์ผิดปกตินั้น กรณีของคนไข้ไทรอยด์เป็นพิษ ใช้การรักษาด้วยการกินยาเพื่อให้ฮอร์โมนไทรอยด์กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนคนไข้ไทรอยด์ต่ำ หมอจะให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อปรับค่าไทรอยด์ให้ปกติ
กลุ่มเสี่ยงไทรอยด์ผิดปกติ คนไข้อาจเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้นหากคนในครอบครัวมีประวัติไทรอยด์ผิดปกติมาก่อน ผู้หญิงมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย
การรักษาไทรอยด์ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ต่ำ คนไข้ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ และติดตามอาการจากหมออย่างต่อเนื่อง ส่วนมากหมอมักนัดตรวจทุก 2-3 เดือน เพื่อเช็คว่าค่าไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ในคนไข้ไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะหากมีอาการตาโปนอยู่แล้วจะทำให้อาการทางตาแย่ลงได้
ไทรอยด์ผิดปกติเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากคนไข้พบว่ามีอาการผิดปกติและสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจค่าไทรอยด์ และทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อไป