ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) หรือรางวัลกินรี ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เพื่อรับรองคุณภาพสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้ผู้ประกอบการยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพและบริการที่ดี พัฒนาการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานการท่องเที่ยวสีขาว ที่มีทั้งความสะดวก สะอาด ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าและมูลค่าของสินค้าทางการท่องเที่ยวไทยสู่ระดับสากล พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ในการท่องเที่ยวรูปแบบวิถีใหม่ ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19

โดยในพิธีพระราชทานรางวัลดังกล่าว นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เข้ารับพระราชทานรางวัลผ่านระบบ Zoom Meeting จำนวน 3 รางวัล จากศูนย์เรียนรู้ฯ โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ประกอบด้วย รางวัลยอดเยี่ยม Thailand Tourism Gold Awards สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ 2 รางวัล ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง กรุงเทพมหานคร และศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ รางวัลดีเด่น Thailand Tourism Awards สาขาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง

อย่างไรก็ตาม สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดจากภารกิจโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อสนับสนุนการจัดการทรัพยากรป่าอย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าและสร้างองค์ความรู้ เผยแพร่ประสบการณ์จากการปลูกป่าไปยังสาธารณะ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่าน 3 ศูนย์เรียนรู้ อีกทั้งยังส่งเสริมและพัฒนาชุมชนบริเวณโดยรอบพื้นที่แปลงปลูกป่า ปตท. และดำเนินงานปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ควบคู่กับการสร้างความมั่นคง ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 5 ล้านไร่ทั่วประเทศ

สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย

  • ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี

พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลน 387 ไร่ ณ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของ ปตท. ด้วยเป็นพื้นที่พิธีน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการ ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พื้นที่แห่งนี้ได้รับการฟื้นฟูจากนากุ้งร้าง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนระดับประเทศและภูมิภาค จากการมีส่วนร่วมจากชุมชน งานวิจัย และความรู้เป็นเครื่องมือในการพลิกฟื้น ดินเสื่อมโทรม และการระบายน้ำเค็ม สำเร็จผลเป็นป่าชายเลนจากการปลูกขนาดใหญ่ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งกำเนิดของระบบนิเวศที่สำคัญ และเป็นต้นแบบองค์ความรู้ในการฟื้นฟูพื้นที่นากุ้งสู่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์รวมถึงเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนร่วมกับชุนชนและหน่วยงานภาครัฐ สร้างรายได้ให้ ชุมชนจากการรับรองนักท่องเที่ยว และจากการจับสัตว์น้ำ

  • ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง

จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดและพระราชทานชื่อ ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 12 ไร่ บนถนนสุขาภิบาล 2 มีการออกแบบที่กลมกลืนกับธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง มีจุดเด่นจากจากชมพื้นที่ป่าปลูกแบบผสมผสาน จากเรือนยอด และเป็นแหล่งสะสมพันธุ์ไม้พื้นถิ่นต่างๆ ของกรุงเทพฯ ทั้งยังรวบรวมองค์ความรู้การปลูกและอนุรักษ์ป่าของ ปตท. ปัจจุบันเป็นหนึ่งในแหล่งกิจกรรมปลูกฝังเรื่อง การอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดคนเมือง

  • ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์

ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีเนื้อที่รวม 351.35 ไร่ มีแนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมการฟื้นฟูป่ารูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูป่าแบบบูรณาการในรูปแบบ “วนเกษตร” ที่ปลูกไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชสวน รวมถึงการทำนาแบบผสมผสาน ทั้งยังเป็นพื้นที่ปลูกป่าโครงการนำร่องที่เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand-Voluntary Emission and Reduction: T-VER) สาขาป่าไม้ ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ยังมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่โดยจัดทำหลักสูตรนิเวศท้องถิ่น เชื่อมโยงการเรียนการสอนในโรงเรียนในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตาม พระราชดำริฯ มีผักปลูกจากเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานที่ปลอดภัยไว้บริโภค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากรายได้การจำหน่ายผัก ในโครงการ “วังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน”