วานนี้ (12 ส.ค. 2567) สำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ รายงานกรณีทีมนักโบราณคดีในประเทศตุรกี ค้นพบโบราณวัตถุที่น่าทึ่งโดยบังเอิญในช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ที่แหล่งขุดค้นเอสกิ อาลาลาห์ ขณะกำลังดำเนินการบูรณะเขตเมืองเก่า ซึ่งได้รับความเสียหายจากผลกระทบจากแผ่นดินไหว
วัตถุดังกล่าวเป็นแผ่นดินเหนียวขนาดเล็ก จารึกอักษรคูนิฟอร์ม หรืออักษรรูปลิ่มของชาวอัคคาเดียน คาดว่ามาจากช่วง 1,500 ปีก่อนคริสตกาล เท่ากับว่ามีความเก่าแก่ประมาณ 3,500 ปี ตัวอักษรทั้งหมดเป็นบันทึกรายการของร้านค้า หรือใบเสร็จรับเงิน ซึ่งระบุว่ามีการซื้อขายเฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก
อักษรคูนิฟอร์มมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม เป็นหนึ่งในระบบตัวอักษรที่ใช้ในการบันทึกข้อความที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นิยมใช้ในดินแดนเมโสโปเตเมีย โดยใช้ไม้หรือเหล็กแหลมกดตัวอักษรลงบนแผ่นดินเหนียว จากนั้นก็นำแผ่นดินเหนียวไปตากแห้งหรือเผาไฟเพื่อทำให้แข็งตัว
แถลงการณ์ของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐตุรกี ระบุว่า แผ่นจารึกโบราณชิ้นนี้มีขนาดเพียง 4.2 x 3.5 ซม. หนา 1.6 ซม. เท่านั้น โดยมี “รายการชอปปิง” ที่ปรากฏบนแผ่นดินเหนียวดังกล่าว คือ โต๊ะไม้, เก้าอี้ และม้านั่งจำนวนมาก
เมห์เมต นูรี เออร์ซอย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของสาธารณรัฐตุรกี โพสต์เกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ โดยกล่าวว่า “เราเชื่อว่าแผ่นจารึกนี้ ซึ่งมีน้ำหนัก 28 กรัมนี้ จะเปิดมุมมองใหม่ในการทำความเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบรัฐในยุคสำริดตอนปลาย”
รมต.เออร์ซอย ยังกล่าวว่า ทีมนักภาษาศาสตร์จะยังคงค้นคว้าต่อไป เพื่อหาคำตอบจากแผ่นจารึกนี้ ว่ามีการซื้อเฟอร์นิเจอร์ไปกี่ชิ้น ใครเป็นผู้ซื้อและอื่น ๆ
ที่มา : foxnews.com
เครดิตภาพ : Ministry of Culture and Tourism of the Republic of Turkey