ทำตามสัญญา เปิดประเทศใน 120 วัน  ประกาศดีเดย์ 1 พ.ย. นี้  “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ตั้งเป้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คนไทยยังฉีดวัคซีน ไม่ครบ ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาใหม่ พุ่งหลักหมื่น   คนตายทะลุร้อย  ยอดฉีดวัคซีน หวังเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ก็ยังไม่เข้าเป้า  ดังนั้นทุกองคาพยพของรัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรับมือ หากยังเดินหน้าเปิดประเทศท่ามกลางความไม่พร้อม ถือเป็นจุดเสี่ยงประเทศไทยจะไปทางไหน ในปี 2565 นี้ว่าได้คุ้มกับเสียหรือไม่ ?

แต่ใน มิติทางการเมือง มีการขยับที่ชัดเจนขึ้นเมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) (เลือกตั้งบัตรสองใบ) ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ซึ่งจะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 2 ม.ค. 2565 ส่งผลให้มีแนวโน้มบัตรเลือกตั้ง 2 ใบชัดเจนขึ้น เพราะต้องมีการทำ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  ที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองในระหว่างการร่างกฎหมายลูกหรือไม่?

แต่ที่แน่ๆตรงนี้เป็นการส่งสัญญาณให้ทุกพรรคการเมืองขยับเดินสายหาเสียงล่วงหน้า ไล่มาตั้งแต่ระดับคีย์แมนของแต่ละพรรค และ ส.ส.ในพื้นที่ขยันลงพบประชาชนแบบถี่ ๆ พร้อมเปิดหน้า โชว์แคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ล่วงหน้า อาทิ นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   นายอนุทิน ชาญวีรกูล  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  พรรคก้าวไกล นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ ยังคงเป็นคนเดิม “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ยังปิดเงียบ แต่ก็มีกระแส “บิ๊กบอสแสนสิริ” นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นเต็งหนึ่งสายตรง “นายใหญ่ดูไบ”

ส่วนคนการเมืองที่ยังอยู่ “สปอตไลท์”ก็เริ่มขยับเช่นกัน แต่ที่แน่ ๆ ปิดตำนาน “4 กุมาร” เหลือเพียงแค่ “ 2 คู่หูดูโอ้” นายอุตตม สาวนายน  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ส่วนนายสุวิทย์  เมษินทรีย์ ขอเว้นวรรคการเมือง ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล  อำลาการเมืองไปทำงานภาคเอกชนเต็มตัวแล้ว ส่วน “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย  ก็ยังซุ่มเงียบรอดูสถานการณ์การเปิดตัวพรรคเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

 แต่ต้องไม่ลืมว่าการบริหารงานรัฐบาล วันนี้ผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว ซึ่งการวัดเรตติ้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ  โดยเฉพาะพรรครัฐบาล จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน  5,300 แห่งทั่วประเทศ ในวันที่ 28 พ.ย. นี้

ซึ่งทุกพรรคการเมืองต่างส่งผู้สนับสนุนของตัวเองลงชิงชัยหลังจากอั้นมานาน เช่นเดียวกับ พรรคก้าวไกล พรรคน้องใหม่ ที่ประกาศ ชิมลางสนามท้องถิ่น เพื่อประเมินเกมในสนามระดับชาติต่อไป เพราะถึงแม้จะมีคะแนนเสียง ตอบรับดีในโลกโซเชียล แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง อาจสวนทางกัน

ดังนั้นจึงต้องจับตาม ศึก อบต. สนามแรก ที่จะเป็นตัววัดพลังของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะเข้าสู่สนามใหญ่ต่อไป เพราะถ้ารัฐบาลเรตติ้งดีการ “ยุบสภา” อาจมาเร็วกว่าที่คิด  แต่ถ้าเรตติ้งไม่ดี  “บิ๊กตู่”ก็ต้องลากยาว ทน ๆ อยู่กันต่อไป