เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ส.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระเรื่องด่วน การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มี สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดยนายวันมูหะมัดนอร์ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเรื่องการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้เสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 และอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง โดยการเสนอชื่อจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 50 คน ใช้วิธีเสียบบัตรแสดงตน ส่วนขั้นตอนการลงคะแนนเลือกนายกฯ จะทำโดยเปิดเผย ใช้วิธีเรียกชื่อสมาชิกตามลำดับตัวอักษร ให้ออกเสียงเป็นรายบุคคล
จากนั้นนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ขอใช้สิทธิอภิปราย แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การขออภิปรายไม่อยู่ในกระบวนการและขั้นตอนเลือกนายกฯ ขอให้ยึดข้อบังคับข้อประชุม เดินหน้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะที่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า การเลือกนายกฯครั้งที่แล้ว ถือเป็นญัตติ ดังนั้น สส.มีสิทธิอภิปรายให้ความเห็น คงใช้เวลาไม่นาน ก็จะลงมติได้ นี่คือเรื่องใหญ่เรื่องประมุขฝ่ายบริหารประเทศ จึงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยในการอภิปราย คงไม่เสียเวลามาก แต่นายวันมูหะมัดนอร์ขอให้เข้าสู่ขั้นตอนการเสนอชื่อ แล้วค่อยมาว่ากันเรื่องการอภิปราย
ซึ่งนายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้เสียบบัตรแสดงตนรับรองครบถ้วน 50 คน
ต่อมาภายหลังการเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร เสร็จแล้ว นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ทวงการใช้สิทธิขอให้มีการอภิปราย โดยแจ้งมีผู้แสดงความประสงค์ขออภิปราย 2 คนคือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ปรากฏว่า นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คัดค้านยืนยันขอให้ดำเนินการตามระเบียบวาระ ไม่กลัวการอภิปราย ฝ่ายค้านก็ยังไม่สมบูรณ์ และผู้ถูกเสนอชื่อก็ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม จึงไม่ควรอภิปราย วาระวันนี้มีเพียงแค่นี้ ขอให้ลงคะแนนเลย
ทำให้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า แม้จะไม่มีระเบียบให้อภิปรายก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อคืนวันที่ 15 ส.ค. นายปกรณ์วุฒิ โทรฯ มาหาตนขออภิปราย 20 นาที ตนจึงอนุญาตโดยให้เวลา 20 นาที ทำให้ สส.เพื่อไทยไม่พอใจ อาทิ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการอภิปราย ใครจะไปตกลงอะไรกันไว้ แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้าตามข้อบังคับการประชุม ให้เดินหน้าโหวตนายกฯ โดยนายวันมูหะมัดนอร์พยายามจะเสนอว่า เมื่อมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ขอให้โหวตลงมติจะให้มีการอภิปรายหรือไม่ แต่ปรากฏว่า ทั้ง สส.พรรคเพื่อไทยและสส.พรรคประชาชน ต่างไม่ยอมกัน ถกเถียงกันไปมาจะให้อภิปรายหรือไม่ เสียเวลาไปร่วม 30 นาที
กระทั่งเวลา 10.50 น. นายวันมูหะมัดนอร์ จึงใช้วินิจฉัยให้อภิปรายได้ โดยใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที และห้ามอภิปรายเรื่องคุณสมบัตินายกฯ จากนั้นนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย อภิปรายว่า ขณะนี้ประเทศขาดนายกรัฐมนตรี วันนี้การเมืองอยู่ในสภาวะทางตันประเทศ จึงต้องมีวาระเร่งด่วนเลือกนายกฯ คนใหม่มาบริหารประเทศ สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จะมีสิทธิอำนาจเลือกนายกฯ ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านวุฒิสภา ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดขาลงด้านเศรษฐกิจ และมีภูเขาการเมืองมาทับซ้อน ทำให้ประชาชนทนอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไร จึงอยากเห็นนายกฯ คนใหม่มาบริหารประเทศ แก้ปัญหาให้ประชาชนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ แต่ไม่อยากให้ไปถึงจุดเรียกร้องไปถึงอำนาจที่มองไม่เห็น รัฐสภาจึงต้องเป็นสิ่งแก้ปัญหาทางการเมือง ฝาก สส.ช่วยหาทางออกผ่าทางตันการเมืองไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อคงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้ดุลพินิจลงมติอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยขบวนการนิติสงครามที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนชั้นนำ แม้ว่า สส.จะลงมติอย่างไร แต่ภารกิจของสภาและนายกฯ คนต่อไปคือ การแก้ปัญหาประเทศที่ต้นตอ ถ้านับเฉพาะคดียุบพรรคก็มีหลายครั้ง หลายคนล้วนเป็นเหยื่อการตัดสินทางการเมืองที่ให้อำนาจล้นเกินแก่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องวางอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติจนล้นเกิน เชื่อว่าทุกคนเห็นปัญหาเช่นเดียวกันว่า หลายคนไม่สมควรถูกประหารชีวิตทางการเมือง มาตรฐานทางจริยธรรมควรเป็นเงื่อนไข กติกาที่พวกเราตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่กติกาที่ให้องค์กรตุลาการมาวินิจฉัยโดยใช้มาตรวัดทางกฎหมาย โดยมาตรวัดมาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องที่แต่ละคนเห็นไม่เหมือนกัน ต้องใช้เสียงประชาชนมาตัดสิน
“7 ปีที่ผ่านมาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซ้ำร้ายยังถูกไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งจากกลุ่มคนชั้นนำทุบทำลาย สส.ที่ได้รับอำนาจสูงสุดจากประชาชน โจทย์ใหญ่คือสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ ไม่ให้เกิดสุญญากาศการเมือง ภารกิจสำคัญสส.คือ เชิญชวนสานต่อภารกิจ ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้อำนาจศาล รธน. องค์กรอิสระ เป็นไปตามหลักสากล ปรับกติกาพรรคการเมืองให้เกิดขึ้นง่าย ตายยาก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ระบอบประชาธิปไตย การลงมติของพรรคประชาชนจะไม่เห็นชอบการเลือกนายกฯ เพราะต้องสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม” หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว
จากนั้น เวลา 11.19 น. ที่ประชุมได้เริ่มลงคะแนน ด้วยวิธีเปิดเผยด้วยการขานชื่อตามลำดับตัวอักษรทีละคน.