เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ลานกีฬาชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ ผอ.สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ร่วมกับนายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ปปส.กทม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภพธร จิตต์มั่น รอง ผบก.น.5 นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผอ.ศป.ปส.เขตคลองเตย พ.ต.อ.ปณิธิ ชาอุ่น ผกก.สน.ท่าเรือ พ.ญ.อลิศรา ทัตตากร ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิ.ย.67 – 31 ส.ค.67) หรือ “คลองเตย ปลอดภัยจากยาเสพติด” โดยมีประชาชนในเขตชุมชนคลองเตยสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 200 คน
โดย นายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ปปส.กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่คลองเตย ว่า ในอดีตผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาจากภูมิภาคอื่นที่เข้ามาทำงาน แต่ปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ถูกจับกุม พบว่า จำนวน 48% เป็นผู้ที่มีทะเบียนบ้านในเขตคลองเตย จำหน่ายยาเสพติดให้กับลูกค้าที่มาจากเขตติดกันอย่างเขตวัฒนา เขตคลองตัน เขตยานนาวา และเขตสาทร แต่เป็นการซื้อขายยาเสพติดกันในปริมาณไม่มาก สำหรับแผนปฏิบัติการเร่งรัดฯ 3 เดือนที่จะสิ้นสุดในปลายเดือน ส.ค.นี้ ปฏิบัติการในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดจำนวน 6 ชุมชน ประกอบด้วย
ชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 ชุมชนล็อค 4-5-6 ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชนวัดคลองเตยใน 2 ชุมชนพัฒนา 70 ไร่ และชุมชนริมคลองสามัคคี ซึ่ง ปปส.กทม. ร่วมกับ บก.น.5 และ สน.ท่าเรือ กดดันปราบปรามจนผู้ค้าและเด็กเดินยาหลายคนหลบหนีออกนอกพื้นที่ ส่วนชุมชนเฝ้าระวังทั่วไปอีก 20 ชุมชน ได้ประสานให้มีการป้องปรามผู้ถูกสั่งคุมประพฤติที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวให้กลับคืนชุมชนประมาณ 50 คน โดยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและอาชีพ เพื่อไม่ให้กลับไปเกี่ยวข้องยาเสพติดอีก
ผอ.ปปส.กทม. เผยอีกว่า วยาเสพติดในคลองเตยเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีพยายามควบคุมไม่ให้สร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน ผู้ค้าต้องไม่มีที่ยืน ผู้เสพที่สมัครใจต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสม และยังคงทำงานได้ตามปกติ มีพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น สำหรับเด็กเยาวชน และคนภายนอกที่เมื่อเดินเข้ามาแล้ว เกิดความรู้สึกปลอดภัยและเปลี่ยนมุมมองทัศนคติต่อชุมชนคลองเตย กันใหม่ และแม้ว่าแผนปฏิบัติการเร่งรัด 3 เดือนฯ จะเสร็จสิ้น แต่ทุกหน่วยงานยังคงร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายสร้างคลองเตยให้ปลอดภัยจากยาเสพติดอย่างยั่งยืน
ส่วน พ.ต.อ.ปณิธิ ชาอุ่น ผกก.สน.ท่าเรือ กล่าวว่า การจับกุมในช่วงแผนเร่งรัดระยะเร่งด่วนในช่วง 2 เดือนมานี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติด จำนวน 113 ราย และแม้ปัญหายาเสพติดลดลงแต่ยังพบการลักลอบนัดหมายส่งยาเสพติดตามแนวถนนดำรงลัทธพิพัฒน์ ถนนอาจณรงค์ และชุมชนคลองเตยแฟลต 1-10 การท่าเรือ และซอยชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ 2 (ซอยดวงประทีป) รวมทั้งการหลบไปซื้อขายกันตามแฟลตหรือเคหะชุมชน ซึ่งมีการจำหน่ายยาเสพติดกลุ่ม Club Drug เช่น ยาเค ยาอี และไฟว์ไฟว์
ด้านนางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผอ.ศป.ปส.เขตคลองเตย กล่าวว่า จากประเมินของ ปปส.กทม. ร่วมกับตำรวจ สาธารณสุข และภาคประชาชน พบว่า สถานการณ์ยาเสพติดในเขตคลองเตยดีขึ้นมาก เนื่องจากแหล่งจำหน่ายแหล่งมั่วสุมหลายแห่งได้รับการตรวจสอบแก้ไขด้วยการปรับภูมิทัศน์และพัฒนาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะลานกีฬาอเนกประสงค์หลายแห่งถูกปรับปรุงเพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถเล่นกีฬาและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ศป.ปส.เขตคลองเตย ร่วมกับ สน.ท่าเรือ และศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ได้จัดทำโครงการชุมชนยั่งยืนและชุมชนล้อมรักษ์เพื่อบำบัดยาเสพติดในชุมชนจำนวน 20 ชุมชน
รวมทั้งส่งอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยยาเสพติดเข้าร่วมทำงานกับทีมพิทักษ์จิตเวช สำนักอนามัย เดินเวรยามเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชทั้งในและนอกชุมชน ก่อนที่คนเหล่านี้จะก่อเหตุรุนแรง และยังได้เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ภายใต้แนวคิดสร้างคลองเตย ปลอดภัยจากยาเสพติด โดยสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเปราะบางและผู้เสพ ซึ่งเน้นให้บริการตรวจสุขภาพ และบำบัดรักษายาเสพติด กลุ่มที่สองเป็นแรงงานผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้เข้าร่วมกิจกรรมวินสีขาวปลอดยาเสพติด กลุ่มที่สามเป็นเด็กและเยาวชน จะมีพิธีเปิดบ้านหนังสือกองทุนแม่ของแผ่นดินและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ซึ่ง ปปส.กทม. สนับสนุนงบประมาณเพื่อให้เด็กและเยาวชนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และทำกิจกรรมสร้างสรรค์
นอกจากนี้ พ.ญ.อลิศรา ทัตตากร ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ได้กล่าวถึงยาเสพติดที่แพร่ระบาดในพื้นที่ว่าส่วนใหญ่เป็นไอซ์ ยาบ้า และคีตามีน ใช้กันในกลุ่มแรงงานรับจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30-34 ปี ตลอดปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้าบำบัดแล้วจำนวน 127 คน และสำหรับช่วงแผนปฏิบัติการเร่งรัด 3 เดือนฯ มีผู้เข้าบำบัด 61 คน ส่วนผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด ซึ่งศูนย์ฯร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เอ็กซเรย์ค้นหามาตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน พบจำนวน 14 คน ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังอาการ (สีเหลือง)
ในเบื้องต้นได้ส่งรักษาแล้วที่คลินิกสุขภาพจิต ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 คลองเตย ซึ่งคลินิกสุขภาพจิตได้ตรวจสอบสิทธิการรักษา และส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาตามสิทธิ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการจิตเวชรุนแรงมาก (สีแดง) ส่งรักษาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 1 คน และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี 3 คน .