จากกรณีที่พระราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ตามที่มีการรายงานไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงขั้นตอนการออกใบบริสุทธิ์ หรือใบสุทธิ แก่นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็น 1 ในผู้ต้องราชทัณฑ์กว่า 30,000 ราย ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ว่า ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 มีผล ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นโทษทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดโทษในวันที่ 31 ส.ค. 67 เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมประพฤติที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ 2567 ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการทำเรื่องเพื่อขอศาลออกหมายปล่อย และออกใบบริสุทธิ์ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนโดยละเอียดในกรณีของผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์มีรายชื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำและทัณฑสถานแต่ละแห่ง ตุลาการ และอัยการ จะพิจารณากลั่นกรองรายชื่อว่าผู้ต้องขังรายใดเข้าข่ายได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ หรือลดวันต้องโทษตามสัดส่วนตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดกฤษฎีกา ทั้งนี้ ในส่วนของนายทักษิณ นั้น ทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี ตุลาการและอัยการ จะพิจารณาก่อนส่งเรื่องเสนอให้ศาลอาญาธนบุรีออกหมายปล่อย รวมถึงใบบริสุทธิ์ ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการ เบื้องต้นไม่สามารถกำหนดได้เพราะเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้ต้องขังที่มีรายชื่อทุกคนพร้อมกัน ไม่ได้มีเพียงเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ขณะที่กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารแจกสื่อมวลชน ระบุใจความว่า ตามพระราชกฤษฎีกา ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี ทั้งนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษที่เป็นผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ และนักโทษเด็ดขาดคดีอาญาทั่วไปที่เป็นคนเจ็บป่วย พิการ ชราภาพ หรือเหลือโทษไม่มาก (ไม่เกิน 1 ปี) จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ส่วนนักโทษเด็ดขาดคดีอื่นจะได้รับการลดโทษในอัตราส่วนมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับชั้นนักโทษและฐานความผิด โดยการพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการปล่อยตัวประมาณ 3 หมื่นคนเศษ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แก่พสกนิกรที่เป็นผู้ก้าวพลาด ให้ได้รับโอกาสในการกลับตน เริ่มต้นชีวิตใหม่ และพระมหากรุณาธิคุณนี้ ยังแผ่ปกคลุมไปถึงครอบครัวผู้ก้าวพลาดที่ได้รับสมาชิกกลับคืนสู่อ้อมกอดอีกครั้ง กรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันบำบัดฟื้นฟู และแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยให้การศึกษา อบรมพัฒนาจิตใจ การฝึกทักษะอาชีพ การแนะแนวการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย รวมถึงได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายภาคสังคมและชุมชน ในการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความพร้อมในการอยู่ร่วมกับสังคมโดยหวังว่าสังคมตลอดจนผู้ประกอบการ หรือห้างร้าน บริษัทต่างๆ จะให้โอกาสรับผู้ก้าวพลาดเข้าทำงาน เพื่อสร้างคุณค่าในตนเองสามารถประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัว และใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่คิดหวนกลับไปทำความผิดซ้ำ อันถือเป็นการป้องกันและคุ้มครองสังคมให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป.