เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คณะกรรมการ ปกค.) ครั้งที่ 4/2564 โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี 2564 (ระยะ 9 เดือน) รวมทั้งการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับประเทศไทยให้ดีขึ้น ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา (TIP Report) ประจำปี 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค. 2564 พบการกระทำความผิดค้ามนุษย์ รวม 97 ราย โดยจำแนกเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (ค้าประเวณี สื่อลามก และทางเพศ) จำนวน 86 คดี และ ด้านแรงงาน 11 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ จำนวน 152 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาชาวไทย จำนวน 124 คน ผู้ต้องหาชาวต่างชาติ จำนวน 28 คน และช่วยเหลือผู้เสียหายได้ จำนวน 154 คน เป็นหญิง 124 คน และชาย 30 คน โดยได้มีการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย ไล่ออกจากราชการ 1 ราย โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยร่วมมือปฏิบัติงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรเอกชน เพิ่มความเข้มในการตรวจแรงงานในภาคประมงในความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และแรงงานบังคับทุกรูปแบบ

​พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมี พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานอนุกรรมการ แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน โดยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้ชำนาญการ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางภายใน 6 เดือน (ต.ค. 2564-มี.ค.2565) และระยะกลาง โดยความร่วมมือกับโครงการอาเซียน-ออสเตรเลีย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN-AUSTRALIA Counter-Trafficking (ASEAN-ACT) Program) ในการจัดทำหลักสูตรกลางสำหรับฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และการจัดตั้งสำนักวิชาการด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในรูปแบบเสมือนจริง ระยะเวลาดำเนินการ (ก.ย. 2564-31 ธ.ค. 2566) ทั้งนี้ การมุ่งเน้นการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ขอให้กำลังใจทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอให้มุ่งมั่นทำงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป.