เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ.ขอนแก่น นายยุทธพร พิรุณสาร รอง ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พล.ต.ต.อนุวัตร สุวรรณภูมิ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.ขอนแก่น ร่วมกันแถลงข่าวผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ครั้งที่ 13 โดยทำการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 30 หมู่บ้าน 117 จุด รวบผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้ค้า 35 คน ผู้เสพ 80 คน พร้อมของกลางยาบ้า 4,531 เม็ด อาวุธปืน 1 กระบอก เครื่องกระสุน 24 นัด และทำการยึดทรัพย์รวม 1,577,410 บาท ขณะที่การตรวจหาสารเสพติดเจ้าหน้าที่และบุคลากรภาครัฐ 10,230 ราย พบสารเสพติด 12 ราย โดยได้ดำเนินการให้ออก ดำเนินการทางวินัยและนำเข้ารับการบำบัดรักษา ขณะที่การตรวจสารเสพติดพระภิกษุสงฆ์ 1,293 รูป พบสารเสพติด 51 รูป โดยให้ลาสิกขาและนำเข้าบำบัด
พล.ต.ต.อนุวัตร กล่าวว่า การดำเนินการปราบปราม จู่โจม ตรวจค้น ตามนโยบายของรัฐบาล 3 เดือนเร่งด่วน ซึ่งจังหวัดและตำรวจภูธรจังหวัดมีนโยบายมียุทธการในเรื่องการเด็ดปีกนักค้าในการตัดโครงสร้างของยาบ้า ด้วยการปิดล้อมตรวจค้นทุกสัปดาห์ในพื้นที่เป้าหมาย ขณะที่ตำรวจได้มีการปฏิบัติการทุกวันและสามารถปรับลดยาเสพติดลงได้ทุกวัน และก็จับได้ทุกวันด้วย
“การระดมกวาดล้างกันบ่อยๆ ที่เราทำทุกวัน อย่างเมื่อเช้าที่อำเภอกระนวน เราจับกุมและสอบสวนพบว่าไปรับซื้อมาในราคาอยู่ที่ 40-50 บาท จากเดิม 2 เดือนที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 30 บาทหรือ 3 เม็ด 100 บาท ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 40-50 บาท นั่นหมายความว่าการหายาในพื้นที่ยากขึ้น” ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น กล่าว
ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า จากการปราบปรามปิดล้อมตรวจค้น กลุ่มพ่อค้าก็จะพยายามที่จะเก็บรักษาหรือเอายาไปซ่อนไว้ในที่ที่คาดไม่ถึง อาจจะอยู่ในป่า หรืออยู่ในสวนที่ไกลๆ ซึ่งตอนนี้ทุกภาคส่วนกำลังพยายามหาข่าวและสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจังและเข้มงวดอย่างต่อเนื่องต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขอนแก่นได้รับความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสผู้ค้าและผู้เสพ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสายด่วนซอมบี้ขยี้ยาเสพติด ซึ่งรับแจ้งเบาะแสแล้ว 248 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 242 เรื่อง อยู่ระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการ 6 เรื่อง ขณะที่การฟื้นฟูสังคมมีการนำผู้เสพที่อยู่ในขั้นตอนของการช่วยเหลือที่ยังไม่พร้อมกลับสู่ชุมชนในรูปแบบของศูนย์พักคอยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดหรือ CI จำนวน 1,608 คน โดยแต่ละอำเภอมีการประเมินผู้ที่เข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง.