รายงานข่าวจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DIGITAL COUNCIL OF THAILAND) มีมติให้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธานสภาดิจิทัลฯ ต่ออีกวาระ หลังจากครบวาระแรกเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 64 ซึ่งจะมีวาระดำรงตำแหน่งสองปี  

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าว่า ปัจจุบันสภาดิจิทัลฯ มีเครือข่ายสมาชิกที่เป็นสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลรวม 22 สมาคม และอีก 70 องค์กร ประกอบด้วยนิติบุคคลและบุคคลธรรมดารวมแล้วกว่า 4,000 ราย ทั้งนี้ยังคงมีความตั้งใจและเจตนารมณ์ในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและสมาชิก ที่สำคัญคือสภาดิจิทัลฯ พร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ไปได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีดิจิทัลและเทคโนโลยี 4.0 เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในทุกมิติ มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ด้าน Digital Culture และ Startup เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้สภาดิจิทัลฯ จะสานต่อภารกิจ 5 เสาหลักที่เป็นยุทธศาตร์ของสภาฯ ได้แก่ 1.การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2.การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3.การพัฒนาศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล 4.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 5.การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค

โดยทุกพันธกิจจะคำนึงถึงการพัฒนาประเทศและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน อีกทั้งได้เพิ่มการมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ด้าน Digital Culture และ Startup เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล และพัฒนาคนในชาติให้มีทักษะและศักยภาพด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ในดำเนินงานของสภาดิจิทัลฯ ในสมัยที่นายศุภชัยดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ สมัยแรก มีผลงานโดดเด่นที่น่าสนใจ อาทิ การจัดทำตัวชี้วัด (Digital Index) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ การยกระดับความรู้ด้านดิจิทัล Upskill และ Reskill แก่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศผ่านความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยผ่านโครงการ DCT digital U โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งระดับประเทศและระดับโลก เช่น Microsoft, Accenture, Oracle, SET e-Learning, CHULA MOOC Achieve เป็นต้น

รวมถึงการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล การผลักดันนโยบายและกฎระเบียบเพื่อยกระดับระบบนิเวศด้านนวัตกรรมของไทย การผลักดันนโยบายยกเว้นอัตราภาษีกำไรส่วนทุนจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gains Tax) การพัฒนาโรงพยาบาลสนามต้นแบบดิจิทัลที่ รพ.สนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.สนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และ รพ.สนามธรรมศาสตร์ เป็นต้น