ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมอุตสาหกรรมจังหวัด (อสจ.) ทั่วประเทศ ประชุมเร่งด่วน ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 11 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 24-30 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่ 35 จังหวัด โดยกำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และแจ้งเตือนสถานประกอบกิจการในพื้นที่ให้ทราบ โดยเฉพาะจุดเฝ้าระวัง 6 พื้นที่ที่มีปัญหาสารเคมีรั่วไหล คือ
1.บริษัท เอกอุทัย จำกัด ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- บริษัท ซันเทค เคมิคอล แอนด์ โลจิสติกส์ จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- โกดังเก็บสารเคมีในพื้นที่ ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
- กรณีลักลอบทิ้ง 2 พื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา
รวมถึงจังหวัดที่เข้าข่ายเป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อชาวบ้านข้างเคียง โดยขอให้พื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการ พร้อมรายงานสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดมายังส่วนกลาง หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์และเร่งเข้าช่วยเหลือ บรรเทา เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ต่อไป
สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมการไว้ประกอบด้วย 3 มาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู
1.มาตรการช่วยเหลือ
– การเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วม ติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งเตือนสถานประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สำรวจและคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ประเมินความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เช่น เขื่อนรอบนิคม เครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ระบายน้ำ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้
และตรวจสอบเฝ้าระวังการรั่วไหลของสารเคมี วัตถุอันตรายในโรงงานที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเตรียมการขนย้าย หรือเตรียมแผนรักษาความปลอดภัยในโรงงาน ทั้งนี้ขอให้สถานประกอบการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ตามแผนป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติกรณีเกิดอุทกภัยเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาคารโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบไฟฟ้าได้
– สำรวจความเสียหาย ผลกระทบ โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที
– การส่งมอบ “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” เป็นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย” บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของจำเป็นเป็นถุงยังชีพรวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
2.มาตรการเยียวยา
– การพักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จะมีการหารือภายในสัปดาห์หน้า
– การปรับลดค่าธรรมเนียมในการตรวจประเมินและรับรอง ค่าธรรมเนียมฝึกอบรม สำหรับผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วมของสถาบันยานยนต์และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
– การปรึกษาปัญหาธุรกิจ เจ้าหน้าที่เข้าประเมินสภาพปัญหา วางแผน ฟื้นฟูสถานประกอบการโดยร่วมบูรณาการกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM BSC)
– บริการตรวจเช็กสภาพ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยจัดเตรียมน้ำมันเครื่อง จำนวน 2,000 ลิตร
3. มาตรการฟื้นฟู
– ปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟู เครื่องจักร ระบบไฟฟ้า จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ ทีมวิศวกรให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งปรับปรุง ฟื้นฟูกระบวนการผลิต การให้คำปรึกษา เพื่อให้ระบบคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติ
– ฟื้นฟูอ้อยหลังประสบอุทกภัย สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย สนับสนุนท่อนพันธุ์อ้อยใหม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับความเสียหาย สำหรับปลูกในฤดูถัดไป ให้คำปรึกษา แนะนำวิธีฟื้นฟูอ้อย การใส่ปุ๋ย การเตรียมการตัดอ้อยเข้าหีบ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถแจ้งความประสงค์ในการสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นได้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ หรือส่วนภูมิภาคผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ