น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ดีอีเอสได้สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 8-14 ต.ค. 64 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามาจำนวน 11,567,491 ข้อความ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 196 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 105 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 48 เรื่อง

“จากการประสานงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข่าวที่ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว จำนวน 56 เรื่อง โดยพบว่ามีสัดส่วนที่เป็นข่าวจริง 30 เรื่อง ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีว่า ข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่กันในวงกว้างบนออนไลน์และโซเชียล มีสัดส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงขยับเข้ามาแทนที่ในฟากข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าบทบาทของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในการเผยแพร่ความรู้และการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ต่อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้เผยแพร่เฟคนิวส์ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และประชาชน” น.ส.นพวรรณ กล่าว

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก รอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ ประเด็นวัคซีนกลับมาได้รับความสนใจอย่างมากอีกครั้ง โดยเฟคนิวส์เรื่องวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เป็นยาพิษ หากฉีดจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ได้รับความสนใจจากประชาชนมากสุด ตามมาด้วย ข่าวปลอมเรื่องเด็กอายุ 11 ขวบ ถูก คฝ. ควบคุมตัวที่ชุมชนดินแดง และเรื่อง คฝ.ที่ถูกยิงเข้าศีรษะบริเวณแฟลตดินแดง เป็นการยิงพลาดของตำรวจ ที่ตั้งใจจะยิงประชาชน ตามลำดับ

น.ส.นพวรรณ กล่าวว่า อยากขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากประชาชนช่วยกันแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com รวมถึงหากประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด เบาะแสการฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางโซเชียล โทร. 1212 เพื่อจะประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป