ขณะที่ในวันโหวตนายกฯ “สส.เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ก็ลุกขึ้นหารือในเรื่องของปัญหาการตีความทางจริยธรรม กลายเป็นเรื่อง “อัตวิสัย” ของผู้มีอำนาจตีความ พูดง่ายๆ คือเป็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเรื่องการทุจริตอะไร แต่เรื่องจริยธรรมถูกนำมาให้คุณให้โทษทางการเมืองได้
ซึ่งเมื่อมามองเรื่องที่ สส.เท้งหารือ ก็พบว่า การใช้อำนาจของผู้ตีความบางครั้งถูกตั้งคำถามว่า เกินกว่าความผิดที่ควรหรือไม่ อย่าง น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์รูปๆ เดียวแล้วไม่ลบ ผลถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต และกรณีของนายเศรษฐา การแต่งตั้งที่มีการ “เยียวยา” คือนายพิชิตลาออกแล้ว ยังต้อง “ประหาร” กันหรือไม่
สำหรับ สส.หรือรัฐมนตรี ไปใช้ประมวลจริยธรรมเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ และโทษแรง ขณะเดียวกัน เกิดข่าวว่อนสะพัดเรื่องตุลาการฯ คนหนึ่งเอาเรื่องการยุบพรรคก้าวไกลไปพูดเล่นทำนองว่า ทำร้องไห้ แต่วันต่อมาก็ยักไหล่แล้วไปต่อ..หรือพูดว่า ควรจะขอบคุณคำวินิจฉัยที่ทำให้พรรคหาเงินได้ เช่นนี้ผู้พูดจะโดนอะไรบ้าง เมื่อโพสต์รูปยังโดน?
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสอบก็อยู่ในชั้น ป.ป.ช. ซึ่งไม่รู้ว่าจะดองเรื่องไว้นานแค่ไหน ส่วนหนึ่งที่คิดได้ว่า ช้า เพราะเดือนตุลาคมนี้ ป.ป.ช.จะเกษียณไป 3 คน แต่ช่วยทำให้เห็นเป็นบรรทัดฐานเร็วๆ ก็ดีว่า “องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระก็ถูกตรวจสอบได้” ไม่ใช่มีลักษณะเป็นซูเปอร์องค์กรที่กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลยากเหลือเกิน
ในการอภิปรายวันโหวตนายกฯ สส.เท้งพูดทำนองว่า “ประมวลจริยธรรม สส.,สว. ควรให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบกันเอง” แนวๆ ว่า มีความผิดอะไรก็สั่งลงโทษกันในสภาก็ได้ ..ซึ่งว่าไป ในสภาก็มีคณะกรรมการจริยธรรมอยู่ เพิ่งมีผู้ยื่นให้ตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ตีหัวนักข่าวไป
เรื่องจริยธรรมนี้ ก็ดูเหมือนกระทบมาที่ “อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ด้วย เพราะต้องเชคอยู่ไม่รู้แล้วว่าใครน่าจะขาดคุณสมบัติ เบื้องต้นก็มีข่าวว่อนว่า มีรายชื่อที่“ไม่น่าจะสง่างาม” ออกมา 4 รายชื่อ ซึ่งระเบิดลง พรรค พปชร.แตกเรียบร้อย จากที่มีข่าวจะปรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ออก
คาดว่า ..เดิมตั้งใจจะตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีแบบค่อนข้างใช้เวลา แต่ปรากฏสถานการณ์น้ำท่วมเข้ามา ทำให้อาจต้องเร่งหา “ตัวจริง” มาทำหน้าที่ เพราะการเป็นรัฐบาลรักษาการอาจมีความขลุกขลักในเรื่องการอนุมัติงบประมาณใหม่ แต่ตอนนี้ก็ยักแย่ยักยันกันอยู่สองพรรค คือ พปชร. ว่าจะใช้โผใคร และประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลหรือไม่
เพราะเรื่องการตีความจริยธรรมเป็นอัตวิสัยของผู้มีอำนาจ ..มันก็อาจกลายเป็นความหวาดกลัวให้นายกฯ อิ๊งค์และพรรคเพื่อไทยไปอีก ว่า “การแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากมติพรรคส่งจะมีปัญหาทางจริยธรรมอีกหรือไม่ ?” ซึ่งขณะนี้บ้านเมืองต้องการความชัดเจนในการบริหาร มีงานเร่งด่วน จะรอสองพรรคตกลงกันมันก็ดูแย่
จากการแก้กฎหมายประชามติที่เพิ่งผ่านสภาผู้แทนฯ ไป คาดว่า จะให้ทำประชามติประชาชนว่า “ต้องการมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่” โดยพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าจะแก้ให้ได้ในรัฐบาลนี้ เมื่อแก้รัฐธรรมนูญ อาจต้องมาดูเรื่องประมวลจริยธรรมว่า “จะเอาอย่างไรให้มันยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง”
ประมวลจริยธรรมของนักการเมืองมันควรต่างจากขององค์กรอิสระหรือไม่ ? ก็ต้องมีการคุยกันในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่มีความเคลื่อนไหวกันมานานคือ “ไม่ต้องการให้มีซูเปอร์องค์กรมาชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง” เมื่อรัฐธรรมนูญหวังสร้างพรรคการเมืองให้เป็นของประชาชน แล้วทำไมให้ย้อนแย้งตรงยุบง่าย
แก้ไขอย่างไรดี ให้ตรวจสอบซูเปอร์องค์กรได้ และไม่ใช้เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง.