ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีการเติบโตอย่างมาก คนไทยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากยิ่งขึ้น แต่ก็มี พวก “มิจฉาชีพออนไลน์” ฉวยโอกาส เอาเปรียบประชาชนที่เป็นผู้บริโภค!!

โดยหลอกขายของไม่ได้คุณภาพบ้าง  สินค้าไม่ตรงปก หรือไม่เหมือนตามที่โฆษณาหรือให้ข้อมูลไว้ บางคนโชคร้าย โอนเงินไปแล้ว แต่กลับไม่ได้ของ ถูกหลอกลวงปิดเฟจหนี ติดต่อไม่ได้ นอกจาก “เสียเงิน” แล้ว ต้องเจ็บใจ จากการที่ “เสียรู้” ให้กับ “มิจฉาชีพ” ที่ปลอมตัวมาในคราบ “พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์” ด้วย

จำนวนเคสที่เกิดขึ้นมาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาแก้ไขด่วน โดยให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เร่งดำเนินการปราบปรามตามกฎหมาย

ทางนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส จึงมีนโยบายให้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ หรือ 1212 OCC ในสังกัดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ยกระดับการทำงานในเชิงรุกให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงบ่นจากประชาชน ว่า ศูนย์ 1212 OCC โทรฯติดยากจึงได้สั่งให้เร่งเพิ่มคู่สาย และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถบริการ ประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว

ภาพ pixabay.com

อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันที่ชีวิตกลายเป็นเรื่องดิจิทัลไปหมดหลายๆคนอาจจะไม่สามารถเลี่ยงการซื้อสินค้าออนไลน์ได้ การคิด พินิจ ตรวจสอบ ก่อนจะ “เอฟ” หรือ กด “ตกลง” สั่งซื้อสินค้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

โดยทาง 1212 OCC แนะนำว่า หากต้องซื้อสินค้าจากเฟจ หรือโซเซียลมีเดีย ผู้ซื้อ ควรจะตรวจสอบ ความน่าเชื่อถือของพ่อค้าแม่ค้าก่อน โดยดูจาก ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือตรวจสอบ การจดทะเบียนการค้า ประวัติของผู้ขายและเลขที่บัญชี โดยสืบค้นใน กูเกิล ว่ามีประวัติไม่ดี หรือเคยถูกร้องเรียนมาก่อนหรือไม่ รวมถึงเช็กจากรีวิวของผู้ซื้อรายอื่น ๆ ว่ามีฟีดแบกอย่างไรบ้าง และหากมีหน้าร้านจริงๆก็จะลดความเสี่ยงลงได้

แต่หากอยากได้ความั่นใจเพิ่มขึ้น ก็ควรซื้อของจากร้านค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ก็ยังคงต้องตรวจสอบเรื่อง เงื่อนไขของสินค้า การรับประกัน การส่งคืนสินค้า หากไม่เป็นไปตามที่สั่งซื้อหรือเจอสินค้าไม่ตรงปก รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เช่น ใครเป็นคนรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการส่ง-คืนสินค้า การหักค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการต่าง ๆ ฯลฯ

ทั้งนี้ในการซื้อสินค้าจากร้านค้าหรือผู้ขายที่ขายของราคาต่ำกว่าปกติมาก ๆ ให้ฉุกคิดและสงสัยไว้ก่อน อาจเสี่ยงกับการถูกหลอกลวง และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือห้ามโพสต์แจ้งเลขบัตรเครดิต เลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ เช่น ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว ลงบนพื้นที่ออนไลน์สาธารณะเด็ดขาด

 อย่างไรก็ตามในเมื่อ “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” เมื่อเราระวังอย่างดีแล้ว ยังพลาดตกเป็นเหยื่อ ของมิจฉาชีพแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรได้บ้าง??

ในเรื่องนี้ เมื่อการซื้อขายมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ได้ของไม่ตรงปก ไม่ตรงตามที่ตกลง ก็ควรจะเจรจาโดยตรงกับผู้ขายเพื่อขอคืนหรือเปลี่ยนสินค้า หรือขอคืนเงินแต่อาจจะใช้เวลาในการดำเนินการ และหากพบเจอปัญหาก็ควรเข้าไปให้คะแนน หรือรีวิวสินค้า เพื่อเป็นการช่วยให้ผู้ซื้อคนอื่นๆ ได้พิจารณาร้านค้า ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า

 และหากเป็นเป็นกรณีโดนหลอกโอนเงินไปแล้วไม่ได้รับของ จะถือว่าเป็นการฉ้อโกง เป็นความผิดตามกฎหมาย เราที่เป็นผู้ซื้อ ต้องเก็บหลักฐานต่าง ๆ เช่น รูปและชื่อโปรไฟล์ของร้านค้าหรือผู้ขาย หน้าประกาศขายสินค้า หากเป็นเว็บไซต์ให้เก็บยูอาร์แอล (URL) หรือ ที่อยู่เว็บไซต์ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าหรือผู้ขาย เลขที่บัญชีของผู้ขายที่ให้โอนเงินชำระค่าสินค้า ภาพหน้าจอข้อความพูดคุยหรือแชตที่แสดงถึงการตกลงซื้อขาย เช่น ภาพตัวอย่างสินค้า ข้อความโฆษณา ราคาสินค้า การต่อรอง การรับประกัน การโอนเงินต่างๆ ไม่ว่าจะทางอีเมล ข้อความส่วนตัว ไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ และหลักฐานการโอนเงินค่าสินค้า

 จากนั้นนำหลักฐานต่างๆ พร้อมทั้งสมุดบัญชีธนาคารและบัตรประจำตัวประชาชนไปแจ้งความ ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยระบุขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และเราสามารถนำ เลขที่บัญชีของร้านค้าหรือผู้ขาย พร้อมใบแจ้งความและหลักฐานการโอนเงินไปยังธนาคาร ทำเรื่องขอรายละเอียดของเจ้าของบัญชีและ ยื่นเรื่องขอเงินคืน หรืออายัดบัญชี

แต่ในกรณีการหลอกลวง ส่วนใหญ่เลขที่บัญชีที่โอนเงินจะไม่ใช่ของมิจฉาชีพที่แท้จริง เป็น “บัญชีม้า” รับจ้างเปิดบัญชี  และเจ้าของบัญชีอาจโดนนำบัตรประชาชนไปสวมรอยเปิดบัญชีหลอกขายสินค้า ก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งพวกมิจฉาชีพออนไลน์ เหล่านี้มักจะรีบถอนเงินออกไปทันที ทำให้โอกาสได้เงินคืนน้อยลง แต่ยังดีกว่าปล่อยให้มิจฉาชีพลอยนวลไปหลอกคนอื่นๆอีก

อย่างไรก็ตามสำหรับการร้องเรียน กับทาง 1212 OCC สามารถทำได้ผ่านสายด่วน 1212 เว็บไซต์ www.1212occ.com หรือ อีเมล [email protected] โดยจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำ และประสานงานไปยัง บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น

ภาพ pixabay.com

โดยผู้ร้องเรียนสามารถกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่เว็บไซต์ 1212 OCC จัดเตรียมไว้ โดยเป็น ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ เป็นต้น แจ้งรายละเอียดเรื่องร้องเรียน เช่น วัตถุประสงค์ในการร้องเรียน เรื่องที่ต้องการร้องเรียน เว็บไซต์หรือชื่อสกุลผู้ที่ต้องการร้องเรียน และความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นต้น พร้อมเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลแสดงการโอนเงิน ข้อมูลหรือรายการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น

 ทั้งนี้การกระบวนการติดตามตัวคนร้ายออนไลน์ให้รับผิดชอบหรือดำเนินคดีต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญ คือ เราในฐานะ เป็นผู้ซื้อต้องรอบครอบ อย่าเห็นแก่ของราคาถูกกว่าปกติ หรือให้ความอยากได้ครอบงำจิตใจ ต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนซื้อ-ขาย ก็จะช่วยป้องกันให้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์ได้ดีที่สุด.

 จิราวัฒน์ จารุพันธ์