เมื่อเวลา 12.25 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ว่า มีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ยืนยันได้ว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะไม่เท่ากับปี 2554 อย่างแน่นอน เพียงแต่ช่วงนี้มีฝนฉับพลันเข้ามาทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยทุกกระทรวงร่วมมือกันจัดส่งอุปกรณ์ช่วยเรื่องการระบายน้ำเพื่อที่จะระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทาง สทนช.จะเร่งรัดประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยดูเรื่องการระบายน้ำ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ขณะที่กระทรวงกลาโหมได้จัดส่งอุปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งจัดส่งอาหาร และน้ำดื่มสะอาดให้ผู้ประสบภัยด้วย
เมื่อถามย้ำว่า ที่บอกว่าปริมาณน้ำไม่เท่าปี 2554 หมายความว่ากรุงเทพฯ จะไม่ท่วมแน่นอนใช่หรือไม่ นายจักรพงษ์ ระบุว่า ไม่ท่วม ส่วนมวลน้ำที่จะลงมาที่ จ.สุโขทัย นั้น กำลังกระจายออกไปด้านข้างบ้างแล้ว ซึ่งในวันที่ 27 ส.ค.ปริมาณน้ำจะสูงที่สุด ขณะนี้หน่วยงานพยายามบริหารจัดการให้น้ำกระจายออกด้านข้างได้มากที่สุด หากผ่านพรุ่งนี้ไปได้ก็จะอยู่ในสถานะที่ดี
เมื่อถามว่า จะไม่เกิดพายุขนาดใหญ่เหมือนปี 2554 ใช่หรือไม่ นายจักรพงษ์ กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้ามา 1-2 ลูกในเดือน ก.ย. ปริมาณน้ำอาจจะเพิ่มขึ้น เราจึงต้องรีบเร่งบริหารจัดการน้ำในช่วงนี้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณจะมี 3 ส่วนโดยจะทำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด 1.งบประมาณของรองนายกรัฐมนตรี 2.ส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ใช้ทดรองจ่ายอยู่ท่านละ 50 ล้านบาท และ 3.งบประมาณของแต่ละกระทรวงที่จะขอตรงเข้ามาในการขอซื้ออุปกรณ์ระบายน้ำ เบื้องต้นกระทรวงกลาโหมส่งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือแล้ว
ขณะที่ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในวันที่ 27 ส.ค. ปริมาณน้ำที่สุโขทัยจะมากที่สุด คือ จุดสถานี Y14A อำเภอศรีสัชนาลัย ก่อนที่จะมาถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ดังนั้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์จะระบายไปทางคลองยมน่านเป็นหลัก และก่อนหน้านี้ได้มีการรื้อทางรถไฟที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อที่จะระบายได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งเพียงพอ อีกส่วนจะระบายในคลองในแม่น้ำยมเก่าซึ่งจะระบายได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เหลือจะระบายในส่วนของท้ายหาดสะพานจันทร์ ซึ่งขณะนี้ตัวเมืองสุโขทัยระบายได้ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจมีน้ำล้นพนังกั้นน้ำบ้างเล็กน้อย แต่พี่น้องประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ได้ช่วยกันเสริมกระสอบทรายจึงเป็นลักษณะน้ำล้นในระดับหนึ่ง แต่ก็มีเครื่องสูบน้ำที่จะสูบออก เพื่อบริหารจัดการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองสุโขทัย
นายสุรสีห์ กล่าวว่า หลังจากนี้น้ำจะมาทาง จ.พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ จึงจะมีการเร่งระบายน้ำลงในแม่น้ำน่านเพื่อให้น้ำในทุ่งน้อยลง เนื่องจากมีการประเมินว่าในเดือน ก.ย. มีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมากเข้ามาอีก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ส่วนเดิมๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่แล้ว และหลังจากนี้น้ำจะมารวมกันที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้การระบายน้ำเจ้าพระยาจะอยู่ที่อัตรา 700-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น จะไม่ส่งผลกระทบตามที่เป็นข่าวว่าจะเหมือนปี 2554 เพราะปี 2554 น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มาในครั้งนี้ต่างจากปี 2554 โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะมีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนก่อนในการให้ยกของขึ้นที่สูง
นายสุรสีห์ กล่าวด้วยว่า นายจักรพงษ์สั่งการว่าพื้นที่ต่างๆ ที่เข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ยังไม่สามารถระบายน้ำตามธรรมชาติได้ ให้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ช่วยเหลือให้เข้าสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว ขณะที่เรื่องของพายุ กรมอุตุฯ ใช้หลักสถิติว่าช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. ยังเป็นช่วงฤดูฝนมีโอกาสที่จะเกิดพายุที่จะเข้าประเทศไทยได้ 1-2 ลูก แต่จะเข้ามาหรือไม่ ต้องติดตามอีกครั้ง แต่เราก็ไม่ประมาทที่จะมีการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ที่ขณะนี้อยู่ในจุดที่ยังรองรับน้ำได้อีกมาก.