สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ว่าสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอสเอ) ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ ว่ายานแคปซูล “เสินโจว-13” เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง เมื่อเวลา 06.56 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงปักกิ่ง (05.56 น. ตามเวลาในประเทศไทย) หลังใช้เวลาเดินทางจากโลกนานประมาณ 6 ชั่วโมง

จากซ้ายไปขวา : นายเย่ กวงฟู่ นายไจ๋ จื้อกัง และ น.ส.หวัง ย่าผิง


ทั้งนี้ ลูกเรือทั้งสามคน ได้แก่ นายไจ๋ จื้อกัง วัย 55 ปี นายเย่ กวงฟู่ วัย 41 ปี และ น.ส.หวัง ย่าผิง วัย 41 ปี ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน ในภารกิจสถานีอวกาศนานาชาติ จะประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนาน 6 เดือน นานที่สุดเป็นสถิติใหม่ โดยทำลายระยะเวลาประมาณ 90 วัน ของภารกิจเสินโจว-12 ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย.ที่ผ่านมา


สำหรับสถานีอวกาศของจีนจะมีรูปทรงคล้ายตัวอักษร “ที” ในภาษาอังกฤษ (T) และมีน้ำหนักประมาณ 66 ตัน โดยแผนการประกอบชิ้นส่วนจะเกิดขึ้นเป็นระยะ เพื่อให้แล้วเสร็จทันตามกำหนดการส่งลูกเรือ ขึ้นไปประจำการภายในสิ้นปีหน้า แม้ถือเป็นขนาดที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ที่เป็นความร่วมมืออันราบรื่นเพียงไม่กี่อย่างระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ซึ่งมีน้ำหนัก 450 ตัน

จรวด “ลอง มาร์ช-ทูเอฟ” เดินทางขึ้นจากฐานปล่อยในทะเลทรายโกบี เพื่อนำส่งยานแคปซูล “เสินโจว-13” สู่สถานีอวกาศเทียนกง


อย่างไรก็ตาม โครงการสถานีอวกาศของจีนคือหนึ่งในจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ด้านอวกาศของรัฐบาลปักกิ่ง หลังสามารถส่งยานสำรวจไปเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ และเดินทางกลับถึงโลกได้อย่างปลอดภัย เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งซีเอ็นเอสเอวางแผนให้สถานีอวกาศโคจรรอบโลกเป็นเวลานาน 15 ปี โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในปี 2565 พร้อมทั้งยืนยันเปิดรับความร่วมมือจากต่างประเทศด้วย และมีรายงานว่าองค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) เคยส่งนักบินอวกาศไปฝึกซ้อมการใช้งานสถานีเทียนกงจำลองที่จีนแล้ว.

เครดิตภาพ : AP