เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ส.ค. ที่รัฐสภา นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สส.ภูเก็ต เขต 2 พรรคประชาชน และนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต เขต 3 พรรคประชาชน แถลงเหตุการณ์ดินถล่มที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดยนายเฉลิมพงศ์ กล่าวว่า ตนพร้อมพรรคประชาชนได้ลงพื้นที่ และพบประเด็นที่ต้องติดตาม คือเรื่องของพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดเหตุ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. แต่ก็พบว่ามีการขยายพื้นที่ก่อสร้างไปถึงกว่า 40 ไร่ เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตเพียง 15 ไร่ นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ จ.ภูเก็ต สามารถก่อสร้างบนพื้นที่ความสูงได้ไม่เกิน 80 เมตร ยกเว้นเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น เสาสัญญาณ แต่กรณีพระใหญ่และอาคารประกอบกลับได้รับยกเว้น ต้องตรวจสอบต่อไปว่าได้รับอนุญาตได้อย่างไร
นายเฉลิมพงศ์ กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีหินแกรนิตผุพัง และสภาพดินเป็นดินทรายและดินเหนียว มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินถล่ม ต้องตรวจสอบว่ามีการประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ กิจการ หรือการดำเนินงานนั้น ๆ ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามรายงานการประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดหรือไม่ จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต พบว่าหินแกรนิต จ.ภูเก็ต เริ่มมีความเสื่อมโทรมทำให้แตก บวกกับชั้นดินเหนียวทำให้เกิดการสไลด์เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ข้อสังเกตนี้ต้องตรวจสอบกันต่อไปผ่านการทำประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม วัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) หรือมูลนิธิพระพุทธ มิ่งมงคลศรัทธา 45 ได้ขอพื้นที่กับกรมป่าไม้เพื่อก่อสร้างองค์พระใหญ่จำนวน 15 ไร่ เพื่อก่อสร้างพระใหญ่บนเทือกเขา แต่พบว่ามีการรุกล้ำไปอีก 5 ไร่ ขณะนี้ได้แจ้งความดำเนินคดีกับมูลนิธิดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไปคงต้องมีการตรวจสอบการเงิน โดยจะส่งหนังสือไปทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่าทางมูลนิธิได้นำเงินที่รับบริจาคไปใช้ทำอะไรบ้าง
ด้านนายฐิติกันต์ กล่าวว่า ระบบเตือนภัย ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีเฉพาะการเตือนภัยเหตุสึนามิ ไม่มีการเตือนภัยพิบัติอื่น ซึ่งเหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้ หากมีระบบเตือนภัย เช่น เซ็นเซอร์แจ้งเตือนขณะที่มีการเคลื่อนตัวของหินแกรนิตขนาดใหญ่ พี่น้องประชาชนจะอพยพได้ทัน แต่เหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ซึ่งส่วนใหญ่นอนหลับอยู่ในบ้านขณะเกิดเหตุ หากจังหวัดมีระบบแจ้งเตือนเชื่อว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต
นอกจากเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยที่ต้องผลักดันต่อเพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปคือการเยียวยาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แต่เนื่องจากค่าครองชีพของ จ.ภูเก็ต ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น เช่น ค่าเช่าบ้านตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ระเบียบกระทรวงการคลัง ให้แค่ 1,800 บาทต่อเดือน เพียง 2 เดือน ซึ่งสำรวจในภูเก็ตแล้ว ค่าเช่าบ้านเริ่มต้นที่ 5,000 บาท จึงจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย
นายฐิติกันต์ กล่าวว่า หลังจากนี้พรรคประชาชนจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการป้องกันและแจ้งเตือนภัย ไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นของภูเก็ตอีก ตนในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเรื่องนี้เข้า กมธ.ที่ดินฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน.