นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ขสมก. มีหนี้สะสมกว่า 1.3 แสนล้านบาท ดังนั้นจะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของผู้บริหารกระทรวง ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งมี 4 ข้อ ได้แก่ 1.การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ 2.การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.การขนส่งที่เข้าถึงอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน และ 4.การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้บริหารจัดการ เพราะเป็นยุคแห่งการใช้เทคโนโลยี ทำให้องค์กรอยู่แบบดั้งเดิมไม่ได้แล้วต้องปรับตัว  

ทั้งนี้ ขสมก. เป็นขนส่งสาธารณะที่เน้นบริการประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ไม่ได้แสดงหาผลกำไรมากนัก ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ ขสมก. ต้องอยู่ได้ ไม่เป็นภาระกับภาครัฐ โดยต้องยกระดับการบริการให้ประชาชนดีขึ้น ซึ่งต้องรู้ก่อนว่า ขสมก. มีสมรรถนะอย่างไร นอกจากนี้ประชาชนต้องการหรือคาดหวังอะไรจากบริการของ ขสมก. ที่ผ่านมายังไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน หรือความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการพัฒนารถเมล์ ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบข้อมูลจากสื่อโซเชียลมาตลอดว่า ต้องการให้มีรถโดยสาร (รถเมล์) ใหม่ หรือเรื่องร้องเรียนรอรถเมล์นาน การปรับความถี่ในการเดินรถ การตัดรถเมล์เสริมในเส้นทาง รถเมล์ไม่จอดป้าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนที่ดีมาก  

นายกิตติกานต์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะทำอันดับแรกที่ทำคือการยกระดับให้บริการประชาชน โดยการทำแบบสอบถาม เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งทำได้ทันที โดยที่ไม่ต้องอ้างว่า ต้องมีรถเมล์ใหม่มาให้บริการ อันไหนที่ทำได้ควรจะทำ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมทำแบบสำรวจดังกล่าว เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติ เบื้องต้นแบบสำรวจนี้จะเน้นที่กลุ่มเป้าหมายที่ใช้บริการรถเมล์ ความต้องการที่ให้ปรับปรุง เช่น รถเมล์ เส้นทางรถเมล์ จุดจอด รวมทั้งการให้บริการของพนักงานด้วย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการและประสิทธิภาพการบริการมากขึ้น   

เมื่อข้อมูลแล้วเสร็จจะทำการสำรวจผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ ขสมก. มี เช่น เว็บไซต์ หรือ เฟซบุ๊ก ขสมก. ขณะเดียวกันจะขอความร่วมมือไปยังกลุ่มแฟนเพจรถเมล์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับรถเมล์ช่วยนำแบบสำรวจไปเผยแพร่ในช่องทางนั้นๆ เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารเข้าถึงผู้ใช้บริการรถเมล์มากขึ้น ซึ่งภายในเดือนนี้กระบวนการแบบสำรวจจะแล้วเสร็จ

จากนั้นเดือน พ.ย. จะประมวลผล เพื่อจัดอันดับสิ่งที่เป็นปัญหา และประชาชนต้องการมากที่สุด และในเดือน ธ.ค. 64 ข้อมูลจะแล้วเสร็จทั้งหมด พร้อมกับพิจารณาความพร้อมว่าควรทำก่อน-หลัง เพื่อเตรียมของบประมาณ หรือเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟู เพื่อปรับรูปแบบการให้บริการที่ดีที่สุด ทำให้ประชาชนสะดวก ปลอดภัย ตรงต่อเวลา และจ่ายค่าบริการแบบสมเหตุสมผล