ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย ได้แจ้งปรับขึ้นราคาขายปลีกบุหรี่ตามอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ แก่ร้านค้าปลีก โชห่วย และร้านสะดวกซื้อไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าบรรดาร้านค้าปลีกต่างๆ จะเริ่มมีบุหรี่ลอตใหม่มาวางจำหน่ายได้ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยราคาบุหรี่ใหม่ของการยาสูบฯ ที่ปรับขึ้น มีดังนี้ บุหรี่ซอง 55 บาท ขึ้นเป็น 63 บาท ราคาซอง 60 บาท ขึ้นเป็น 66 บาท ส่วนบุหรี่ราคาแพงขึ้นจากซอง 95 บาท เป็น 102 บาท ขณะที่บุหรี่นำเข้าต่างประเทศจะขึ้นหลังจากนั้น ช่วงวันที่ 1 พ.ย.64 เนื่องจากยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่ โดยกลุ่มราคาซอง 60 บาท จะขึ้นเป็น 68-72 บาท แต่กลุ่มบุหรี่ราคาแพง 150 บาท ยังไม่ปรับขึ้นและคงขายราคาเดิม

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาการยาสูบฯ แจ้งขอปรับราคาเข้ามา และรับแสตมป์ภาษีใหม่กลับไปแล้ว ซึ่งจะทยอยจัดส่งของและน่าจะเริ่มขายบุหรี่ราคาใหม่ได้ตั้งแต่ 18 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนผู้นำเข้าบุหรี่รายใหญ่ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กับบริษัท ลีดอน ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้แจ้งขึ้นราคาขายปลีกเข้าไปที่กรมสรรพสามิตแล้วเช่นกัน ยกเว้นบริษัท เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ยังไม่แจ้งเข้ามา ซึ่งในส่วนของบุหรี่นอกจะขึ้นราคาภายหลัง เนื่องจากมีกระบวนการจัดส่งแสตมป์กลับไปผลิตที่ต่างประเทศ ทำให้ใช้เวลามากกว่าบุหรี่ที่ผลิตในไทย”

ด้านการยาสูบแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า การขึ้นราคาบุหรี่รอบนี้ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย และมีกำไรลดลงจากเดิมเหลือซองละไม่ถึง 1 บาท เนื่องจากการยาสูบฯ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงเน้นการดูแลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องมากกว่าการมุ่งทำกำไร โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด หากขึ้นราคามากเกรงว่าจะเป็นภาระผู้บริโภค หรือนักสูบบางคนหากแบกรับราคาไม่ไหว อาจหันไปบริโภคยาเส้น หรือบุหรี่เถื่อนที่มีราคาถูกกว่าแทน

นอกจากนี้ สาเหตุที่การยาสูบฯ ยอมเฉือนกำไรลดลง เพื่อให้ราคาขายปลีกถูกกว่าบุหรี่นอกซอง 4-6 บาท เพื่อต้องการชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมาบ้าง จากเดิมเคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 72% แต่ปัจจุบันลดเหลือเพียง 56% ดังนั้นการยาสูบฯ จึงต้องการเพิ่มยอดขาย และส่วนแบ่งการตลาด เพื่อให้สามารถช่วยรับซื้อใบยาจากชาวไร่มากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน การยาสูบฯมีหน้าที่จัดส่งรายได้คืนรัฐ โดยนำกำไร 88% ส่งเข้าแผ่นดินอีกด้วย

สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเสียภาษีทั้งปริมาณและมูลค่า โดยบุหรี่ที่มีรายขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 72 บาท จะเสียภาษีมูลค่าอัตรา 25% และปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน ส่วนบุหรี่ราคาแนะนำซองละเกินกว่า 72 บาทขึ้นไป จะเสียภาษีมูลค่าในอัตรา 42% และตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน ซึ่งเป็นผลทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้น