เดือน ก.ค. 67 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) อยู่ที่ระดับ 96.74 ขยายตัว 1.79% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.84% โดยสถานการณ์ภาคการผลิตของไทยกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากภาคการส่งออกที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ ขยายตัว 10.7% ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับมาสู่ภาวะปกติ รวมถึงเทศกาลการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือน ก.ค. 67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.29% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลปาล์มเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ผู้ผลิตเน้นส่งออกไปอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศและค่าเงินบาทอ่อนตัว
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.70% จากผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ และยางผสม เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป อินเดีย และจีน รวมถึงมีสต๊อกน้ำยางอยู่จำนวนมากจึงเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.91% จากผลิตภัณฑ์ครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณภูมิสูงขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตพัฒนาคุณภาพสินค้า รวมทั้งจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อเข้าถึงและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.11% จากรถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.96% จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก และผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์
คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.02% จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตและพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดโอนบ้านใหม่ลดลง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ
ส่วนระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน ส.ค. 67 ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวัง สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงสหรัฐ มีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้ากับจีน แต่ก็ยังเชื่อว่า เอ็มพีไอเดือน ส.ค. จะยังคงเป็นบวก
ตารางดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)
Index | 2566 | 2567 | ||||||||||
ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | |
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม | 102.17 | 109.70 | 87.35 | 99.88 | 97.75 | 95.04 | 99.32 | 104.30 | 89.70 | 98.43 | 96.16 | 96.74 |
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % | 0.01 | 7.37 | -20.37 | 14.34 | -2.13 | -2.78 | 0.15 | 5.02 | -14.00 | 9.73 | -2.30 | 0.60 |
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) % | -0.61 | -2.80 | -8.00 | -2.83 | -4.20 | -3.89 | -2.79 | -4.92 | 2.69 | -1.45 | -1.63 | 1.79 |
อัตราการใช้กำลังการผลิต | 63.22 | 66.66 | 54.54 | 61.04 | 60.07 | 58.23 | 59.78 | 62.31 | 55.45 | 59.50 | 58.28 | 58.84 |
ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2567