“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจ และออกแบบทางหลวงหมายเลข 3486 (ทล.3486) ช่วง บ.กุดเตย-บ.ใหม่ไทยถาวร และทล.348 ช่วง อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว-อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 48 กิโลเมตร (กม.) จากขนาด 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งเป็นช่วงที่ผ่านเขาช่องตะโก อุทยานแห่งชาติตาพระยา และป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง ซึ่งเป็นเส้นทางแคบคดเคี้ยวและสูงชัน เพื่อความสะดวก และปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น โดยสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง (ทล.) ได้ขยายเวลาจ้างศึกษาฯ ไปถึงเดือน พ.ค. 68 จากเดิมสิ้นสุด มิ.ย. 66 เนื่องจากต้องเข้าสำรวจข้อมูลสัตว์ป่าให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลของนกอพยพด้วยเพื่อจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

สำหรับบริเวณเขาช่องตะโกได้พิจารณาความเหมาะสมด้านต่างๆ ทั้งวิศวกรรม เศรษฐกิจการลงทุน และด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รูปแบบที่เหมาะสมที่สุดคือก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่า คล้ายโครงการทางเชื่อมผืนป่าและขยายทล.304 (จ.ปราจีนบุรี-จ.นครราชสีมา) ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และจุดนี้จะเป็นแห่งที่ 2 โดยเริ่มต้นที่กม.75+500-กม.79+925 ความยาว 4.425 กม. ออกแบบเป็นโครงสร้างสะพานยกระดับ 4 ช่องให้สัตว์เดินลอดสะพาน หากมีความจำเป็นบางช่วงอาจเพิ่มช่องสำหรับรถบรรทุกหนักอีก 1 ช่อง และเชื่อมโครงสร้างอุโมงค์แบบดินตัดดินถมขนาด 4 ช่องจาก กม.79+925-กม.80+250 ความยาวประมาณ 300 เมตร

เนื่องจากช่วงเขาช่องตะโกเป็นรอยต่อ จ.สระแก้ว และ จ.บุรีรัมย์ มีความต่างระดับประมาณ 200 เมตร ระยะทาง 3 กม. บางช่วงมีความลาดชันสูงถึง 12% ทำให้ช่วงแรกที่ผ่านเขาช่องตะโก ต้องใช้โครงสร้างสะพานยกระดับ เพราะในทางวิศวกรรมจราจร จะช่วยให้ยานพาหนะไต่ระดับความสูงในระยะทางที่จำกัดได้ ประกอบกับบริเวณนี้มีความลาดชันต่ำ มีการสัญจรของสัตว์ป่าข้ามฝั่ง จึงออกแบบเป็นอุโมงค์แบบดินตัดดินถมกลับเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงธรรมชาติเดิมให้สัตว์เดินข้ามระหว่างผืนป่าทั้งสองฝั่งได้

ส่วนบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง ออกแบบโครงสร้างสะพานยกระดับให้สัตว์ป่าเดินลอดด้านล่างบนทล.348 ช่วงกม.93+000-กม. 94+000 ระยะทาง 1 กม. จะปลอดภัยในการขับขี่ พร้อมออกแบบระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิผล นอกจากนี้ได้ออกแบบจุดตัดทางแยกต่างๆ อาทิ บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการแยกบ้านกุดเตย, วงเวียนบ้านโคคลาน และวงเวียนบ้านใหม่ไทย เป็นต้น จะเร่งสำรวจออกแบบให้แล้วเสร็จตามกำหนดกลางปี 68 และใช้เวลาในขั้นตอนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในปี 72 ขอจัดตั้งงบประมาณปี 73 ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 77

***ห้ามคัดลอกภาพและเนื้อหาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต