ประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามต่อเนื่องคือ กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากมีบทเรียนจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องหลุดจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากการแต่งตั้ง “นายพิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ เพราะซึ่งมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จนนายกฯ คนที่ 30 ต้องพ้นจากตำแหน่งไป
ดังนั้นด้วยความเป็นทายาทของ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทย (พท.) จึงต้องใช้ความรอบคอบเพื่อไม่ให้เผชิญวิบากเหมือนในอดีต ยิ่งช่วงที่ผ่านมาตัวแทนจากพรรค พท. มักต้องพ้นตำแหน่งฝ่ายบริหารไปด้วยข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ (รธน.) ผู้มากบารมีจึงไม่ต้องให้ประวัติศาสตร์ซ้ำร้อย ยิ่ง “นายสมชาย แสวงการ” อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 40 สว. ที่เคยเข้าชื่อยื่นถอดถอน “นายเศรษฐา” ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กว่า ข่าวดี! ครม.อิ๊งค์ 1 ตรวจละเอียดยิบ รมต. ต้องสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข่าวลืออื้ออึงว่า ติดปมตั้ง 11 ทั้งคดีใน ป.ป.ช. อัยการ ศาล ฯลฯ ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่น่าสนใจ
ขณะที่ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้าโผ ครม. ว่า เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลยหรือไม่นั้น ขอไปคุยกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างไร เพราะตนไม่เคยทำ แต่โผทุกอย่างนิ่งหมดแล้ว เมื่อถามว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เมื่อไหร่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า พยายามจะทำให้เร็วที่สุด เมื่อถามย้ำว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า น่าจะได้ ส่วนมีกระแสข่าวบางรายชื่ออาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราส่งตรวจสอบตามระบบ ซึ่งได้วางตำแหน่งทั้งหมดให้ รมต. แล้ว ไม่น่ามีอะไรกระเพื่อมแล้ว เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะมีการร้องเรียนมาภายหลัง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “ไม่ซี” (ไม่ซีเรียส)
นั่นหมายความจากนี้ไปต้องรอบทสรุปในการตรวจสอบคุณสมบัติ รมต. จะมีปัญหาหรือถูกท้วงติงภายหลังหรือไม่ ถ้าหากไม่มีปัญหาตามขั้นตอน จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ฯ ก่อนหน้านั้นมีการวางไทม์ไลน์การตั้ง ครม. น.ส.แพทองธาร หลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 67 และมีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ไปเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่านายกฯ จะพิจารณาแต่งตั้ง รมต. และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงต้นเดือน ก.ย. นี้ เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ จะนำ ครม. เข้าถวายสัตย์ฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นคาดว่าวันที่ 5 ก.ย. จะมีการประชุม ครม. นัดพิเศษ เพื่อเสนอร่างนโยบายต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบ พร้อมกับการกำหนดวันแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยในวันที่ 6 ก.ย. จะมีการส่งเล่มคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภารับทราบ ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติจะต้องส่งก่อนวันแถลงนโยบายล่วงหน้า 3 วันทำการ
โดยคาดว่า ครม.แพทองธาร จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 ก.ย. นี้ ซึ่ง ครม. จะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้าถวายสัตย์ฯ และคาดการณ์ว่าในวันที่ 17 ก.ย. จะเป็นการประชุม ครม. นัดแรก โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งเป็น รมต. ใน “ครม.แพทองธาร 1” อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์ดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือขยับวันตามสถานการณ์การเมือง
ส่วน “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลว่า ใกล้แล้วเสร็จ โดยคาดว่า ครม. น่าจะสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกินวันที่ 15 ก.ย. 2567 เนื่องจากทุกขั้นตอนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ รวมถึงเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนเข้ารับตำแหน่ง และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ย. 2567 เมื่อถามต่อว่า การที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง รมต. คืนให้กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทั้งหมดแล้ว จะมีปัญหาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เข้าใจไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากมีคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ตรวจสอบ แต่ก็อยากให้รอผลอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ “ยังไม่สะเด็ดน้ำ” เมื่อถามย้ำว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จทันภายในวันที่ 15 ก.ย. 2567 ตามที่เคยกล่าวไว้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “จะพยายามครับ”
สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะใหญ่มี “นายมีชัย ฤชุพันธ์” อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 รวมทั้ง “นายวิษณุ เครืองาม” มือกฎหมายคนสำคัญในหลายรัฐบาล ซึ่งบุคคลทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายต่างๆ ขึ้นมาบังคับใช้ในประเทศ ซึ่งคงใช้ประสบการณ์และความรู้ทางกฎหมายตรวจสอบคุณสมบัติ รมต. อย่างรอบคอบ เพราะถือเป็นกูรูด้านกฎหมายที่ยากใครจะมีความสามารถเท่า
ส่วนความเคลื่อนไหวที่อาคารรัฐสภาจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 โดยเป็นการพิจารณาในวาระ 2-3 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. ซึ่งต้องจับตา เนื่องจากเป็นการพิจารณารายมาตรา เพราะหลังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้มีมติเข้าร่วมรัฐบาล ดังนั้นต้องรอดูว่า การออกเสียงของพรรค ปชป. จะเป็นไปอย่างเอกภาพ จากจำนวน สส. ทั้ง 25 เสียง เพราะในการลงมติเข้าร่วมรัฐบาล มี สส. 4 คนคัดค้าน ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งทั้ง 3 คน เป็นอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. และนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ทายาททางการเมืองของ “นายนิพนธ์ บุญญามณี”
ก่อนหน้านั้นหลังจาก พรรค ปชป. มีมติเข้าร่วมรัฐบาลพรรค พท. โดยคืนวันที่ 29 ส.ค. ทำให้เพจเฟซบุ๊กของพรรค ปชป. ที่ปรากฏภาพและข้อความ “พรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล” และ “เดชอิศม์ ขอบคุณ กก.บห.-สส.เข้าร่วมรัฐบาล ทำให้สามารถผลักดันนโยบายพรรคได้อย่างเต็มที่” มีแฟนคลับเข้ามาแสดงความคิดเห็นคัดค้านเป็นจำนวนมาก อาทิ ผลจากการกระทำตระบัดสัตย์ต่อประชาชนในครั้งนี้ จะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งพรรค ปชป. จะแพ้อย่างแน่นอนแบบ 100%, เลือกตั้งคราวหน้าพรรค ปชป. จะสูญพันธุ์, พอกันทีสำหรับพรรคนี้เลือกมาตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและเลือกมาตลอด ผิดหวัง, รอบหน้ารอมติประชาชน, ผิดหวังที่อุดมการณ์หายไป ทำให้เพจเฟซบุ๊กพรรค ปชป. ปิดห้ามแสดงความคิดเห็น
ส่วนความคิดเห็นของพรรคฝ่ายค้าน “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 และ 3 ในระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. นี้ ว่า หัวข้อใหญ่ๆ ในการอภิปรายหนีไม่พ้นประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต ซอฟต์พาวเวอร์ และงบกระทรวงกลาโหม รวมทั้งประเด็นความท้าทายใหม่ที่จนแล้วจนรอดยังไม่ปรากฏ ทั้งนี้เห็นว่าการจัดงบประมาณครั้งนี้เป็นการจัดอย่างสะเปะสะปะ
ดังนั้นจะต้องไล่ไปตามมาตรา และแต่ละมาตราก็จะมี สส. อภิปรายในโครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแนวทางการโหวตของของ สส. 143 คนของพรรคก็เป็นแนวทางเดิมที่เคยปฏิบัติมา คือไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากในรายละเอียดยังมีการปรับลดที่ไม่สมเหตุสมผล ที่สำคัญต้องใช้หนี้ธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และยังมีการโอนให้โครงการดิทัลวอลเล็ต จำนวน 35,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ก็ได้เพียง 180,000 กว่าล้านบาท ยังไม่เพียงพอที่จะแจกเงิน 10,000 บาท ให้ครบทั้ง 45 ล้านคน ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้
ขณะที่ผลพวงจากการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี หลัง “นายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์” ผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี จากพรรค ปชน. พ่ายแพ้ “กำนันตุ้ย” นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.ราชบุรี หลายสมัยที่ผ่านมา ซึ่งลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระไปแบบทิ้งห่างหลายหมื่นคะแนน โดย “นายวิวัฒน์” ได้ 242,297 คะแนน ส่วน “นายชัยรัตน์” ได้ 175,353 คะแนน ซึ่งถือเป็นการพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในนาม พรรค ปชน. หลัง “พรรคก้าวไกล (ก.ก.)” ถูกยุบและเปลี่ยนมาใช้ชื่อใหม่ ต่อจากนี้ไปต้องจับตาดูสนามเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 แทน “หมออ๋อง” นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลก เขต 1 และอดีตรองประธานสภา ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะมีขึ้นในวันที่ 15 ก.ย. 2567
โดยพรรค ปชน. ส่ง “นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์” หรือ “โฟล์ค” ลงสู้ศึกเลือกตั้ง ส่วนพรรค พท. ส่ง “บู้” นายจเด็ศ จันทรา ลงสู้ศึก ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งแรก ที่เป็นการวัดพลังระหว่างแกนนำพรรคฝ่ายค้านและแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง พรรค ปชน. ก็ต้องรักษาที่นั่ง สส. ไว้ให้ได้เพื่อพิสูจน์ศรัทธาประชาชน หลังศาล รธน. มีมติยุบพรรค ก.ก. ซึ่งเชื่อว่าพรรคสีส้มต้องสู้เต็มที่แน่ๆ เพราะหมายถึงการตอกย้ำว่าประชาชนยังรักและศรัทธาพรรค ส่วน “พท.” ก็หวังคว้าชัยชนะ เพราะถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. คงต้องรอดูบรรยากาศหาเสียงในครั้งนี้ จะเข้มข้นและดุเดือดมากขนาดไหน
ขณะเดียวกันก็มีนักกฎหมายบางคน ตั้งคำถามถึงคุณสมบัติ “นายณฐชนน” เพราะ “ปชน.” เป็นพรรคที่ สส. พรรค ก.ก. ไปนำเอา “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” มาเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรค ปชน.” หลังจากศาล รธน. มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค ก.ก. เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 67 ถ้านับถึงวันที่ 15 ก.ย. 67 จึงมีระยะเวลาไม่ถึง 40 วัน แต่ปรากฏว่า พรรค ปชน. ส่งผู้สมัครลงรับสมัครเลือกตั้งด้วย จึงมีคำถามว่า เมื่อการเป็นพรรค ปชน. ยังไม่ครบเก้าสิบวัน สมาชิกของพรรคที่สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ในเขตนี้ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน นับถึงวันเลือกตั้งหรือไม่
โดย รธน.มาตรา 97 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. โดยข้อ 3 เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าว ให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
ต้องรอดูผู้สมัครจาก ปชน. จะมีปัญหาในข้อกฎหมายหรือไม่ แต่การลงสมัครได้นั่นหมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติในเบื้องต้นแล้ว ต้องรอดูในอนาคตจะมีใครร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติหรือไม่.