เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่รัฐสภา นายอลงกต วรกี สว. กล่าวถึงกรณีที่มี สว.ท่านหนึ่งออกมาให้ข่าวว่า สว.เสียงข้างมากคว่ำมติ ในการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่กรณีการตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จ ก็ให้ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้อำนาจในการวินิจฉัย

นายอลงกต กล่าวกรณีการโต้เถียงในสภาว่า สว. มีอำนาจในการตรวจสอบหรือไม่นั้น คำตอบคือไม่มีมีอำนาจในการตรวจสอบ ยกเว้นกรณีการเสนอชื่อตุลาการ ที่จะมีหน้าที่ตรวจสอบได้ และมีมติเห็นชอบในการส่งชื่อเพื่อดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ทำให้ในการประชุมเมื่อวานนี้ จึงมีการเสนอประธานวุฒิสภาว่า ให้มีการถอนเรื่องนี้ออกไป หรือให้มีมติเห็นชอบไม่รับเรื่องนี้ ทำให้ประธานวุฒิสภาตัดสินใจให้มีการลงมติ

นายอลงกต กล่าวในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ถึงกรณีที่มีการถกเถียงเรื่องการลงคะแนนให้ความเห็นชอบนายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง ให้ความเห็นชอบ 184 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 9 คะแนน และงดออกเสียง โดยยืนยันว่า คณะกรรมาธิการสามัญได้ตรวจสอบประวัติ และความประพฤติแล้ว ตามแนวทางดำเนินงาน ซึ่งพบว่ามีการดำเนินการถูกต้อง รวมถึงมีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว สำหรับในช่วงเย็นของวันนี้ จะมีเริ่มการพิจารณาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด โดยจะเป็นการลงคะแนนในทางลับเช่นเดิม และหลังจากมีการลงคะแนนเสียงแล้ว จะมีการแถลงข่าวต่อไป

ส่วนกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการ สว.ทั้ง 21 คณะ ซึ่งฝั่ง สว.พันธุ์ใหม่ ออกมาเปิดเผยว่า เสียงข้างมากไม่ได้ทำตามข้อตกลง เนื่องจากตีตกร่างแก้ไขข้อบังคับทั้งหมดของเสียงข้างน้อย นายอลงกต กล่าวว่า คำถามนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากมีการมองว่า มีทั้ง สว.พันธุ์ใหม่ และ สว.สีน้ำเงิน แต่ในความเป็นจริงตนขอยืนยัน ว่า สว.ทั้งหมด มีเฉพาะ 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย แต่จะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่การลงมติ

นายอลงกต กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือทำไมจึงมีการตั้งคำถามแบบนี้ ทั้งที่มีมติของสภาไปแล้ว โดยยกตัวอย่างกรณีการเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรี ที่เมื่อแพ้แล้ว ก็มาบอกว่าไม่ชอบธรรม ที กทม. ได้เต็มพื้นที่ไม่เห็นพูดเลย ทำไมเลือกที่จะมาร้องกับสื่อมวลชน หรือมาหาแสงแบบนี้ เพราะไม่ว่าจะมีกรรมาธิการกี่คณะ แต่ในท้ายที่สุดการเสนอร่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่เสียงส่วนมากเห็นชอบ แม้จะมีการแปรญัตติ แต่ญัตตินั้นเสียงส่วนมากก็ไม่เห็นชอบ

นายอลงกต กล่าวต่อว่า หากลองดูที่คะแนนดีๆ อยากขอให้ทุกคนพิจารณาดูว่า จำนวนเสียงข้างมากนั้น เป็นเสียงส่วนมากที่มีการกำหนดจำนวนชัดเจนหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่าง การให้ความเห็นชอบตำแหน่งอัยการสูงสุด ที่มีการคะแนนเสียงเห็นชอบ 184 เสียงนั้น จะถือว่าเป็นเสียงส่วนมากหรือไม่ ถ้าอย่างนี้แล้ว ทำไม่ออกมาแถลงข่าว

“ผมไม่ได้เป็นพวกหิวแสง แต่การสร้างความแตกแยกว่า เสียงส่วนมากหรือเสียงส่วนน้อยนั้น ต้องว่ากันไปตามมติ และสิ่งที่บุคคลคนนั้นเสนอมา ก็ไม่อยู่ในระเบียบข้อบังคับของ สว. แต่ควรไปยื่น ป.ป.ช. เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทำให้เสียงส่วนมากกลายเป็นจำเลยทันที ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ สว.” นายอลงกต กล่าว

ส่วนกรณีที่เสียงส่วนน้อยมองว่า จะเสนออะไรไปก็โดนกินรวบนั้น คำถามคือสิ่งที่เสียงส่วนน้อยเสนอเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ อย่างกรณีบัตรสนเท่ห์ ก็มีคำถามว่าควรพิจารณาหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าคณะกรรมาธิการก็ไม่นำบัตรสนเท่ห์มาพิจารณา เพราะเห็นว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ และที่ประชุมก็เห็นชอบ เนื่องจากในบัตรสนเท่ห์นั้น ไม่สามารถระบุความบกพร่องทางจริยธรรมของผู้สมัครได้

“หากจะมาบอกว่าเป็นเสียงส่วนน้อย คุณก็พูดๆ ไป แต่เสียงส่วนน้อยนั้น ก็ไม่ได้มีจำนวนกำหนดที่ชัดเจน ทำไมท่านจะบอกว่านี่เป็นเสียงส่วนน้อย ซึ่งตนไม่แน่ใจว่านิยามเสียงส่วนน้อยของท่านมีจำนวนเท่าไร อย่างวันที่มารายงานตัว และมีการถือป้ายนั้น ผมก็เห็นว่ามี 9 คน แต่การลงมติ เสียงไม่เห็นด้วยมีเพียง 2 คน จะอธิบายว่าเสียงส่วนน้อยกลายมาเป็นเสียงส่วนมากหรือไม่ อย่าอธิบายคำนี้ โดยไม่สนตรรกะ ระบุตัวตนมาเลยว่าเสียงส่วนน้อยมีใครบ้าง” นายอลงกต กล่าว

สำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ ทั้ง 21 คณะ ที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่ม สว.สีน้ำเงินจะเข้าไปดำรงตำแหน่งทั้งหมดนั้น นายอลงกต กล่าวว่า ยังไม่สรุป เพราะที่ผ่านมาตอนนี้ มีการเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ แต่ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอชื่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการก่อน แล้วจึงเลือกอีกครั้งว่าใครจะดำรงตำแหน่งอะไรในคณะกรรมาธิการ ยืนยันว่ากำหนดชื่อไม่ได้ พร้อมเปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการที่มี สว. อยากเข้ามากที่สุด คือคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ส่วนตนเองต้องการอยู่ในคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ

เมื่อถามว่าควรเลือกคนในคณะกรรมาธิการให้ตรงกันกลุ่มอาชีพหรือไม่นั้น นายอลงกต กล่าวว่า มีการพูดคุยเรื่องนี้เหมือนกัน แต่การเสนอชื่อนั้น คงต้องดูตัวเองก่อนว่าตัวเองมาจากกลุ่มไหน ซึ่งที่สุดแล้วก็แล้วแต่การเสนอ และเป็นสิทธิของแต่คนที่จะลงในคณะกรรมาธิการไหนก็ได้ หรือจะเสนอชื่อแบบกลุ่มก็เป็นสิทธิของเขา แต่อย่าลืมว่า บุคคลใดก็ตามที่จะเป็นประธานกรรมาธิการนั้น จะเป็นได้แค่ตำแหน่งเดียว ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมาธิการในคณะอื่น.