ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงโรคไบโพลาร์ ว่า โรคไบโพลาร์ เป็นคำที่มักถูกใช้บอกเล่าอาการของคนที่มี อารมณ์ “เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย” หลายครั้งถูกมองว่าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า แม้ว่า ไบโพลาร์ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวช เช่นเดียวกันกับโรคซึมเศร้า แต่อาการความผิดปกติทาง ด้านอารมณ์ ก็ต่างกันออกไปอย่างชัดเจน โดยลักษณะอาการของโรคไบโพลาร์จะแบ่งอารมณ์เป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ อารมณ์เศร้ามากหรืออารมณ์ดีมากผิดปกติ โดยอารมณ์ทั้ง 2 ขั้วนี้จะเกิดขึ้นในคนละช่วงเวลากันแต่ละขั้วอาจจะมีเวลายาวนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์
ไบโพลาร์เกิดจากอะไร ?
สาเหตุหลักของ ไบโพลาร์ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติหรือเกิดจากพันธุกรรม ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การเสพสารเสพติด ความเครียดจากครอบครัว การทำงาน หรือมีเรื่องที่กระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ – โรคไบโพลาร์คนอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
อาการของโรคไบโพลาร์ ไบโพลาร์ จำแนกอาการจะออกเป็น 2 ขั้ว คือ อารมณ์ดีผิดปกติและอารมณ์เศร้ามากผิดปกติ
อารมณ์ดีผิดปกติ มีโปรเจค กิจกรรมเพิ่มขึ้นมาก มีความมั่นใจในตัวเองสูง พูดเยอะ พูดมาก พูดไม่หยุด นอนไม่หลับ หรือไม่ยอมนอน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีอารมณ์ทางเพศสูง หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง
อารมณ์เศร้ามากผิดปกติ ซึมเศร้า หดหู่ เบื่อหน่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว รู้สึกไร้ค่า น้อยเนื้อต่ำใจกับตัวเอง เก็บตัวไม่อยากพบเจอใคร สมาธิสั้น โฟกัสอะไรได้ไม่นาน คิดฆ่าตัวตาย
วิธีรักษา โรคไบโพลาร์ โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยการรักษาของโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและระดับความรุนแรงของโรคโดยมีวิธีการรักษา ได้แก่ ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับยาและบำบัดทางการแพทย์ กินยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และห้ามหยุดยาเอง คนรอบข้างควรมอบความเข้าใจ กำลังใจให้แก่ผู้ป่วยและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะ โรคไบโพลาร์ จะเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง การดูแลสภาพจิตใจและการช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ และหากเป็นแล้วควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด