ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยข้อมูล ว่า หลายคนชอบมีพฤติกรรม หักนิ้ว หรือดึงข้อนิ้วมือให้เกิดเสียงดังก็อกบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่รู้สึกเมื่อยล้าจากการใช้งานนิ้วมือติดต่อกันเป็นเวลานาน ช่วงเวลาที่ต้องใช้ความคิดหรือช่วงที่รู้สึกเครียด แต่การที่ชอบ หักนิ้ว แก้เมื่อย บ่อย ๆ มักจะส่งผลให้เกิดผลเสียต่าง ๆ เช่น อาจทำให้กระดูกโปนใหญ่กว่าคนปกติ ข้อนิ้วเกิดการอักเสบแต่ไม่ได้ส่งผลเสียถึงขนาดเป็นนิ้วล็อกได้ หักนิ้วบ่อย ๆ เสี่ยงอันตราย ?
เสียงหักนิ้ว เกิดจากสาเหตุใด
เสียงดังก็อกที่ได้ยินในขณะที่หักนิ้วมือหรือข้อนิ้วมือ เกิดจากการแตกตัวของฟองอากาศจากของเหลวหล่อลื่นที่เรียกว่า น้ำไขข้อ ซึ่งน้ำไขข้อนี้จะทำหน้าที่หล่อลื่น ช่วยให้ข้อต่อสามารถ งอ เหยียด หรือเคลื่อนไหวได้ไม่ติดขัด เมื่อหักนิ้วมือด้วยแรงกดและความเร็วที่มากกว่าปกติจะทำให้ความดันภายในน้ำไขข้อลดต่ำลงจนทำให้เกิดฟองอากาศในน้ำไขข้อ และแตกออกจนเกิดเป็นเสียงดังก็อกที่ได้ยินกัน
หักนิ้วบ่อย ๆ เป็นอันตรายหรือไม่
การหักนิ้วบ่อย ๆ ไม่ได้ส่งผลเสียหรืออันตรายโดยตรงกับข้อนิ้ว แต่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการข้อเสื่อมได้ ในคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมอยู่แล้วการหักนิ้วจะทำให้ตัวข้อเสื่อมมากขึ้นหรือบางคนหักนิ้วแรงเกินไปอาจทำให้ข้อนิ้วอักเสบได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความหลวมของข้อทำให้เกิดอาการข้อหลวม เพราะว่าการหักนิ้วแต่ละครั้งมีการถูกยืดของปลอกหุ้มข้อหรือเส้นเอ็นต่าง ๆ
ทำไมถึงชอบหักนิ้ว ?
การหักนิ้วก่อให้เกิดความสบายและผ่อนคลาย ยิ่งกับคนที่ออกกำลังกายแล้วรู้สึกว่ามีข้อติดการหักนิ้วก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนใหญ่เกิดจากนิสัยและความเคยชิน
หักนิ้ว แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
ภายในข้อของกระดูกจะมีน้ำใส ๆ ที่มีหน้าที่ช่วยหล่อลื่นข้อต่อต่าง ๆ ของกระดูกให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ไหลลื่น ไม่ฝืดเคืองหรือเกิดการเสียดสีกันระหว่างกระดูก หากไปบิดหรือหักกระดูกนิ้วบ่อย ๆ ก็อาจจะเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างกระดูกให้เพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้แรงดันอากาศต่ำภายในข้อต่อเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้น้ำที่หล่อลื่นข้อต่ออยู่ไหลออกไปอยู่ในพื้นที่ช่องว่างนั้น ซึ่งเสียงที่ดังกร็อบแกร็บที่ได้ยินเป็นเสียงที่เกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงข้อต่อไหลออกไปสู่พื้นที่ว่างที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ภายในข้อต่ออย่างรวดเร็ว ไม่ได้เป็นเสียงที่เกิดจากกระดูกหรือกล้ามเนื้อ
หักนิ้ว เสี่ยงนิ้วล็อกจริงหรือ ?
การหักนิ้วบ่อย ๆ ไม่ได้ส่งผลเสียให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ แต่อาจทำให้กระดูกโปนใหญ่กว่าคนปกติ เพราะการหักนิ้วบ่อย ๆ ทำให้ตัวข้อนิ้วมือมีการบวมมากกว่าคนที่ไม่หักนิ้ว ซึ่งส่งผลแค่ลักษณะภายนอกเท่านั้น เพราะนิ้วล็อกนั้นเกิดจากปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วอักเสบและหนาขึ้น ทำให้เอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ตามปกติ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้มือต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป เช่น การถือหรือแบกของหนักเป็นเวลานานหรือการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์มากเกินไป “นิ้วล็อค” อาการของการใช้งานนิ้วมือนาน ๆ จากกิจกรรมต่าง ๆ
วิธีเลี่ยงการหักนิ้ว ด้วยท่าบริหารนิ้วอื่น ๆ
- ท่ายืดกล้ามเนื้อเอกซ์เทนเซอร์ แบมือ กางนิ้ว วางมือแนบบนพื้นราบ เช่น บนโต๊ะ ใช้นิ้วมืออีกข้างดึงนิ้วแต่ละนิ้วขึ้นช้า ๆ ให้ได้สูงที่สุดโดยที่ไม่รู้สึกตึงหรือเจ็บและนิ้วอื่นยังติดอยู่กับพื้น ค้างไว้ 2-3 วินาที แล้วค่อย ๆ ปล่อยนิ้วลง ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง ทำท่านี้วันละ 3 เซต
- ท่ายกนิ้ว แบมือ กางนิ้ว วางมือแนบบนพื้นราบ เช่น บนโต๊ะ ยกนิ้วแต่ละนิ้วขึ้นช้า ๆ ให้ได้สูงที่สุดโดยที่ไม่รู้สึกตึงหรือเจ็บและนิ้วอื่นยังติดอยู่กับพื้น เอานิ้วลงช้า ๆ ทำให้ครบทั้ง 5 นิ้ว ยกนิ้วทั้ง 5 นิ้วขึ้นพร้อมกันค้างไว้ 2-3 วินาที เอานิ้วลงช้า ๆ ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้าง 8-12 ครั้ง
- ท่าบีบมือ วางสิ่งของลักษณะเป็นทรงกลมขนาดพอดีมือ เช่น ลูกปิงปอง ไว้กลางฝ่ามือบีบให้แน่นแล้วค้างไว้ 2-3 วินาที คลายมือช้า ๆ และกางนิ้วมือให้สุด ทำซ้ำ 2-3 ครั้งกับนิ้วมืออีกข้าง ทำท่านี้อย่างน้อยวันละ 2 เซต
- ท่าเหยียดนิ้ว จรดปลายนิ้วทั้งห้าเข้าด้วยกัน ใช้หนังยางหรือยางรัดผมรัดนิ้วทั้งห้าไว้ด้วยกัน พยายามเหยียดนิ้วแต่ละนิ้วออกให้ได้มากที่สุดและจรดนิ้วให้ชิดกันทำซ้ำ 10 ครั้ง กับนิ้วมืออีกข้าง ทำท่านี้วันละ 3 เซต
- ท่ากำหมัด กำหมัดเบา ๆ โดยให้นิ้วโป้งอยู่ข้างนอกพาดทับนิ้วอื่น ค้างไว้ 30-60 วินาที คลายมือช้า ๆ จากนั้นกางนิ้วและเหยียดนิ้วให้สุด ทำซ้ำกับนิ้วมืออีกข้างอย่างน้อย 4 เซต
การ หักนิ้ว แก้เมื่อย ไม่ได้ส่งผลเสียหรืออันตรายกับร่างกาย แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำบ่อย ควรทำในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะจะนำไปสู่สมรรถภาพและแรงบีบของมือที่ลดลง เนื่องจากเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไม่แข็งแรงทำให้เกิดการบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อจากการพยายามหักข้อนิ้วอีกด้วย.