ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์บทความวิเคราะห์เกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นยางิ ที่กำลังจะลดระดับเป็นพายุโซนร้อนนั้น จะส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยหรือไม่ โดยระบุว่า
พายุไต้ฝุ่นยางิ กำลังจะลดระดับเป็นพายุโซนร้อนครับ แต่ยังไงก็ต้องระวังผลกระทบด้วย มีคำถามหลังไมค์มาเกี่ยวกับ “พายุยางิ” ที่กำลังเป็นข่าวว่าเป็นพายุลูกใหญ่ และรุนแรงมากระดับ ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น กลัวกันว่าจะเข้ามาประเทศไทยเรา และจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงเหมือนพายุเกย์ในอดีต
จริง ๆ แล้ว แม้ว่าตอนนี้พายุยางิจะมีกำลังแรงมาก มีความเร็วลมสูงมาก ถึงขนาดเป็นระดับซุปเปอร์ไต้ฝุ่นจริง ๆ ในระหว่างที่อยู่ในบริเวณทะเลจีนใต้ หลังจากออกจากประเทศฟิลิปปินส์ และมุ่งหน้าไปทางเกาะไหหลำของประเทศจีน แต่จากการติดตามและพยากรณ์เส้นทางของพายุ จะพบว่ามันกำลังจะขึ้นฝั่งประเทศจีนและเวียดนามในช่วงวันเสาร์อาทิตย์นี้ และจะลดกำลังลงเป็นระดับลงมาเป็นพายุโซนร้อน พายุดีเพรชชั่น ในสัปดาห์ โดยไม่ได้มีเส้นทางตรงเข้ามายังประเทศไทยของเรา
อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะต้องเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมากับ “หางๆ “ ของพายุ ที่จะส่งผลต่อประเทศไทยเราได้ ส่วนฝนที่ตกหนักกันอยู่ในขณะนี้ ก็อย่าไปแปลกใจมากครับมันยังเป็นแค่ “ฝนตามฤดูกาล” ตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แค่นั้นเอง (ยังไม่เริ่มปรากฏการณ์ ลานีญา ด้วยนะ)
ดูคำเตือนล่าสุดจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตามประกาศเรื่องพายุ “ยางิ” ฉบับที่ 8 ดังนี้
– เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (5 ก.ย.) พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออกของเกาะไหหลำ ประมาณ 580 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 19.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 115.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
– พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 6-7 ก.ย. 67
– หลังจากนั้น จะอ่อนกำลังลงตามลำดับ
– ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย. 67
– มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
– ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
– ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
– คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
– ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็ก บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 ก.ย. 67 นี้
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Jessada Denduangboripant